ดร.วิชัย พยัคฆโส [email protected] รัฐวิสาหกิจไทยที่มีผลประกอบการโดดเด่นมีกำไรส่งเป็นรายได้ให้รัฐบาลไปพัฒนาประเทศติดอันดับต้นๆคงเป็นสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ปีนี้ส่งเข้าคลังมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท ต้องยอมรับว่าสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลแห่งเดียวที่สามารถดำเนินธุรกิจการเสี่ยงโชคหรืออาจพูดได้ว่าเป้นการพนันที่ถูกกฎหมายที่ใหญ่ที่สุด มิใช่เป็นรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริการหรือจัดสวัสดิการด้านสาธารณูปโภคแก่ประชาชน รายได้ทั้งหมดจึงเกิดจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลแบบผูกขาด โดยมีรางวัลล่อใจให้ประชาชนเสี่ยงต่อการลงทุนระยะสั้น แม้ว่าจะมีโอกาสไม่มากนักแต่ธรรมชาติของคนจนที่อยากรวยต่างพากันเสี่ยงจากการลงทุนฉบับละ 40 บาท แม้จะปรับเป็นฉบับละ 80 บาท ตามแนวทางการบริหารจัดการของคณะกรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่มักจะเรียกกันย่อๆว่า “กองสลาก” การผูกขาดสินค้าโดยรัฐบาลเช่นนี้ จึงมีเจ้าพ่อเจ้าแม่เข้ามาเป็นเอเย่นต์ใหญ่ผูกขาดกันมานานทุกรัฐบาล ต่างหาประโยชน์จากการขายส่งสลากขายในราคาสูงจนผู้ค้าสลากรายย่อยจำเป็นต้องปรับราคาขายสูงกว่า 80 บาท รวมถึงการรวมหมายเลขเป็นชุดราคาสูงกว่า 100 บาท เท่ากับขายกันในราคาหน้าสลาก เป็นปัญหามหากาพย์ที่ไม่เคยมีสมัยใดแก้ได้เลย ถือว่าเอาเปรียบผู้บริโภคก็น่าจะพูดได้ ผู้บริหารยุค คสช. ได้พยายามแก้ปัญหาทั้งเรื่องโควต้า ทั้งเรื่องเอเย่นต์ พิมพ์สลากเพิ่ม และการไล่จับผู้ขายเกินราคา ในระยะแรกๆที่ตั้งใจจะแก้ปัญหาสลากขายเกินราคาก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถปรับแก้ได้ ยังขายสลากเป็นชุดอยู่ดี และมากขึ้นด้วย แม้ว่าจะให้โควต้ารายย่อยมาจองมากขึ้นก็ยังไม่สามารถจัดระบบได้ หลังสุดปรับสลากเป็นฉบับเดียวราคา 80 บาท ถือว่าเป็นการขึ้นราคาหรือไม่ ต้องยอมรับว่าเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากฉบับละ 40 บาท เป็น 80 บาท ซึ่งมิได้แก้ไขปัญหาขายเกินราคา เพียงแต่ลดต้นทุนการผลิตสลากและอาจมีรายได้เพิ่มขึ้นก็ได้ หากเดิมเคยพิมพ์ 60-70 ล้านฉบับ (ฉบับละ 40 บาท) แต่น่าจะหมายถึงฉบับคู่ ถ้าเป็นฉบับใบเดียวแล้วพิมพ์เท่าเดิมจะได้จำนวนสลากเท่าเดิมแต่ได้ราคาเพิ่มเท่าตัว สร้างรายได้แก่สำนักงาน ถือว่าเป็นกลยุทธทางธุรกิจ อย่างไรก็ตามการตั้งราคาฉบับละ 80 บาท จำหน่ายกัน 100 บาท เสียส่วนใหญ่ ยิ่งรวมชุดอาจตั้งราคา 100-150 บาท แล้วแต่จำนวนใบที่รวมชุด ขายกันเกร่อแบบไม่เกรงกลัวกฎหมายใดๆ แม้ว่าจะมีการจับกันบ้างก็เพียงส่วนน้อย เท่ากับว่าการแก้ปัญหาสลากเกินราคายิ่งแก้ยิ่งเกิดมากขึ้น ราคาสูงขึ้นอีกเพราะคงแก้ที่ปลายเหตุ มิได้แก้ที่ต้นเหตุ ซึ่งอาจจะกระทบกับผู้ขายรายย่อยที่เป็นคนด้อยโอกาสและยากจนที่ทำอาชีพนี้ น่าเห็นใจกองสลากที่ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าผลกระทบที่มากที่สุดของคนส่วนใหญ่คือผู้บริโภค ต้องเอาผู้บริโภคเป็นศูนย์กลางในการแก้ปัญหา อาจต้องยอมสูญเสียในระยะสั้นแต่ได้ผลในระยะยาว เช่น 1. ให้ส่วนลดกับผู้ขายมากขึ้น เช่น 10บาท/ฉบับ โดยยอมลดรายได้ลงไป 2. ตัดเอเย่นต์ยักษ์ใหญ่ให้หมด หากสาวถึงต้นตอว่าขายเกินราคา 3. ตัดสินใจขายหวยตู้ ลดปัญหาทั้งปวง ทั้งหมดเป็นเพียงแนวคิดในระดับประชาชน แต่คณะกรรมการฯ คงคิดได้มากกว่านี้ เพียงแต่จะกล้า ตัดสินใจเพื่อผู้บริโภตหรือผู้ขายเท่านั้น และไม่อยากเห็นแนวคิดเพื่อสร้างกำไรเข้ารัฐให้มากที่สุดแต่เพียงอย่างเดียว ฟังข่าว “ตูน บอดี้สแลม” วิ่งเพื่อรับบริจาคเงินสมทบทุนโรงพยาบาลที่ขาดแคลนอุปกรณ์ตั้ง 700 ล้านบาท เป็นที่น่าชื่นชมที่จะสร้างกุศลช่วยชีวิตผู้เจ็บป่วย หากคิดกลับกันรายได้จากค่าหวยรัฐบาลปีละ 3 หมื่นล้าน น่าจะนำมาเป็นงบประมาณให้แก่โรงพยาบาลที่ขาดแคลนเพียงปีละ 1,000 ล้านบาท ก็น่าคิดทำ จนมีประชาชนสงสัยว่าสลากการกุศลเอารายได้ไปทำอะไรกัน