ล็อกดาวน์มาได้ไม่ถึงสัปดาห์ รัฐบาลก็พลิกเกมด่วนยกระดับปรับคำสั่งเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาด โดยตัดสินใจขยายพื้นที่พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม จากเดิม 10 จังหวัดเป็น 13 จังหวัด ได้แก่ 1. กรุงเทพมหานคร 2. จังหวัดฉะเชิงเทรา 3. จังหวัดชลบุรี 4. จังหวัดนครปฐม 5. จังหวัดนนทบุรี 6. จังหวัดนราธิวาส 7. จังหวัดปทุมธานี 8. จังหวัดปัตตานี 9. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา10. จังหวัดยะลา 11. จังหวัดสงขลา 12. จังหวัดสมุทรปราการ 13. จังหวัดสมุทรสาคร ภายหลังตัวเลขผู้ติดพุ่งสูงขึ้นไปแตะหลักหมื่น ด้วยหากครบ 14 วันตามที่ประกาศไปแล้วยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์วิกฤติให้คลี่คลายได้ ก็มีโอกาสที่จะต้องยกระดับขึ้นไปอีก ไม่ว่าจะเป็นการขยายระยะเวลาและขยายพื้นที่ ในทางกลับกันหากสามารถกดตัวเลขลงมาอยู่ในวงจำกัด และระบบสาธารณสุข สามารถรองรับได้ ก็อาจจะได้ยกเลิกคำสั่งดูแล้วสถานการณ์ยังดูห่างไกลก็ตาม ทว่าหากมีการขยายระยะเวลาออกไป แน่นอนว่า ย่อมไม่ส่งผลดีในเชิงจิตวิทยาทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกระแสความไม่พอใจของพี่น้องประชาชน ในทางกลับกัน หากตัดสินใจช้า วิกฤติเกินขีดความสามารถในการควบคุมได้ นั่นหมายถึงหายนะของประเทศ แรงกระแทกจะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข ระบบเศรษฐกิจ ชีวิตพี่น้องประชาชน แล้วเป็นบูมเมอแรงย้อนกลับมาที่รัฐบาลอยู่ดี อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปดูคำเตือนของ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2564 ว่า “จากที่ประเมินสถานการณ์การระบาดของไทยที่รุนแรงมายาวนานหลายเดือน กระจายไปทั่วประเทศ และคุมไม่อยู่ มาตรการล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่ที่เพิ่งประกาศไปและจะเริ่มวันจันทร์นี้ น่าจะได้ผลในเชิงการชะลอเท่านั้น แต่ไม่สามารถตัดวงจรการระบาดได้ จะมีโอกาสระบาดซ้ำซ้อนไปเรื่อยๆมาตรการที่ควรทำคือ การทำ Full national lockdown ซึ่งมักต้องใช้เวลาในการล็อกนานระดับเดือนขึ้นไป “ไทยเรายังเป็นระลอกสามที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ยังไม่สามารถคุมได้ และมีโอกาสเจอปะทุซ้ำ จากปัจจัยเสี่ยงเชิงนโยบายที่มี เช่น เปิดเกาะ เปิดประเทศ” ดังนั้นระยะเวลาที่เหลืออีกเพียง 6 วันนับจากนี้ จึงเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ที่ต้องลุ้นให้การขยายพื้นที่สีแดงเข้มสำแดงฤทธิ์ มีประสิทธิผล และคงต้องภาวนาไม่ให้รัฐบาลตัดสินใจผิดพลาดประเทศชาติจะได้รอดพ้นวิกฤติ