ทวี สุรฤทธิกุล ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีบางทีอาจจะเป็นเรื่องของ “บุญกรรม” ที่ทำมา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ได้ส่งสัญญาณอีกแล้วว่า คงจะต้องอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนี้ต่อไป เพราะมีเรื่องสำคัญที่จะต้องทำ โดยเฉพาะการต่อสู่กับวิกฤติโควิด ที่เขาจะต้องนำรัฐบาลต่อสู้ต่อไปไปให้รอดพ้น จึงมีข้อที่ควรวิเคราะห์ว่า ทำไมพลเอกประยุทธ์จึงแถลงออกมาอย่างนั้น ประเด็นแรก เราต้องมองที่ “สถานการณ์ทางการเมือง” ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แม้จะอยู่ท่ามกลางวิกฤติโรคร้าย แต่ขบวนการที่ต้องการล้มพลเอกประยุทธ์ก็ยังไม่อ่อนแรง แม้ว่าการออกมาตามท้องถนนอาจจะยากลำบาก และมีมวลชนมาร่วมไม่มากเท่าไหร่ เพราะได้ขยายพื้นที่เข้าไปในโซเชียลมีเดียอย่างน่ากลัว โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ ผ่านแพลตฟอร์มใหม่ ๆ เช่น คลับเฮาส์ และการประชุมออนไลน์ต่าง ๆ ดังจะเห็นได้จากการเปิดแพลตฟอร์มเหล่านั้น ให้มีการจัดสัมมนา รวมถึงอีเวนต์ที่ให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วม แม้จะไม่ได้แสดงออกซึ่งความเห็นต่าง ๆ ทุกผู้ทุกคน แต่การที่มีผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมจำนวนมาก ก็ยิ่งเป็นสัญญาณบอกว่าชบวนการ “ล้มตู่” นี้เอาจริงเอาจังมากแค่ไหน จึงทำให้พลเอกประยุทธ์น่าจะรับรู้และหวั่นไหวอยู่บ้าง พลเอกประยุทธ์จึงจำเป็นที่จะต้องออกมาส่งสัญญาณว่า “ข้าจะสู้ต่อไป” เพื่อชะลอกระแสขับไล่เหล่านั้นไว้บ้าง ประเด็นต่อมา เราต้องมอง “พัฒนาการ” ของคณะทหารกลุ่มนี้ ที่ครองอำนาจมาตั้งแต่หลังรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ว่ามีปัจจัยอะไรในการค้ำจุนความอยู่รอดมาได้อย่างต่อเนื่องของทหารกลุ่มนี้ แน่นอนว่าหากมองอย่าง “ตื้น ๆ” ก็คงเป็นด้วยความล้มเหลวของระบอบรัฐสภา นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งมีความขัดแย้งกัน นำมาสู่การประท้วงตามท้องถนน (กรณี กปปส.ของลุงกำนัน) และจบลงที่การรัฐประหารนั้น นั่นก็คือประชาชนนั่นเองที่เป็นตัวเร่งให้ทหารเข้ามาจัดการกับสถานการณ์อันวุ่นวายดังกล่าว ดังนั้นทหารจึงถือเป็นสิทธิหน้าที่ในการปกป้องดูแลบ้านเมือง ดังจะเห็นได้จากการที่ทหารกล้าสั่งให้มีการฉีกร่างรัฐธรรมนูญฉบับอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่อาจารย์บวรศักดิ์ถึงกับพูดออกมาเองว่า “เขา(ทหาร)อยากอยู่ยาว” ก็เพื่อทหารจะได้จัดการกับ “ความวุ่นวายต่าง ๆ” ให้เรียบร้อย ดังจะเห็นได้จากการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 “อย่างบรรจง” ที่รวมถึงการออกกฎหมายลูกต่าง ๆ ให้เรียบร้อย โดยเฉพาะกฎหมายพรรคการเมืองและกฎหมายเลือกตั้ง เพื่อจัดการกับนักการเมืองที่ทหารเรียกว่า “พวกคนไม่ดี” โดยการเอามาจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองที่หนุนคณะทหารนั้นเสีย และครองอำนาจร่วมกันหลังเลือกตั้งมาจนถึงปัจจุบัน แต่ถ้าหากจะมองให้ “ลึก ๆ” จะพบว่ารัฐบาลนี้น่าจะมี “ภาระพิเศษ” ที่จะต้องคอยดูแล โดยเฉพาะในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านรัชกาล อันเนื่องมาจากพระประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ต้องมาประทับอยู่ ณ โรงพยาบาลศิริราช ในช่วงนั้นพอดี จนกระทั่งสวรรคตใน พ.ศ. 2559 ตามมาด้วยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ที่ต้องถือว่าเป็น “ภาระอันหนัก” ของคณะทหารนี้ ที่จะต้องประคับประคองให้รัฐบาลนี้อยู่รอด เพื่อไม่ให้มีความบกพร่อง และให้พระราชพิธีต่าง ๆ ดำเนินไปอย่างราบรื่นและสมพระเกียรติ ดังนั้นการถวายความจงรักภักดีอย่างสูงสุดจึงเป็นสิ่งที่ทหารคณะนี้ต้องยึดถือ และสามารถทำได้ดีจนเป็นที่ประจักษ์ในทางสาธารณะทั่วไป อันทำให้ทหารคณะนี้ยังคงได้รับการยอมรับ จนกระทั่งให้อภัยในข้อบกพร่องต่าง ๆ ไปด้วย เช่น เรื่องของเผด็จการและการปกครองที่บิดเบี้ยวต่าง ๆ โดยเฉพาะการที่ทหารสามารถใช้อำนาจพิเศษ อย่างเช่นพระราชกำหนดในภาวะฉุกเฉิน ที่ดูเสมือนว่าจะมีอำนาจเหนือกฎหมายหลักฉบับอื่น ๆ ในบ้านเมืองนี้ แต่คนไทยจำนวนหนึ่งก็ยังยอมทนให้ทหารใช้อยู่ได้ พอดีกับที่เกิดวิกฤติโวิด-19 ทหารก็อ้างการใช้อำนาจเด็ดขาดทั้งหลายนี้ ให้คนเชื่อว่าจะจัดการกับ “สงครามเชื้อโรค” นี้ได้ ถึงขั้นที่ทำให้คนไทยจำนวนมากเชื่อไปด้วยว่า ถ้าไม่มีทหารคงไม่มีใครที่จะเอาชนะโรคร้ายนี้ได้ อีกประเด็นหนึ่ง เราต้องมองที่ “เป้าหมายในอนาคต” ของทหารคณะนี้ ทั้งที่เป็น “เป้าหมายส่วนตัว” และ “เป้าหมายมอบหมาย” ซึ่งส่วนตัวของผู้เขียนยังเชื่อว่า ทหารวันนี้ก็ยังเป็นทหารที่เหมือนกันกับทหารเมื่อวันวาน ที่ยังคงมีความรักชาติบ้านเมือง อีกทั้งทหารเหล่านี้ก็เติบโตมาในโลกสมัยใหม่ ย่อมจะรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่พอสมควร โดยทั่วไปทหารก็ไม่ชอบที่จะ “ขวางโลก” โดยเฉพาะไม่ค่อยอยากทำรัฐประหารเท่าไหร่นัก เพราะถ้าท่านทั้งหลายจะสังเกตก็จะเห็นว่า ในทุกครั้ง(ตั้งแต่การรัฐประหารครั้งแรกเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490)ทหารเมื่อยึดอำนาจได้แล้ว ก็อยากจะเร่งรีบถ่ายโอนอำนาจให้กับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งด้วยกันทั้งสิ้น ทั้งนี้ก็เป็นด้วยทหารมีเป้าหมายส่วนตัวแต่เพียงว่า เข้ามาจัดการให้บ้านเมืองหมดความวุ่นวาย หรือแก้ไขวิกฤติบางอย่าง เมื่อเสร็จแล้วทหารก็ถอยตัวเองออกไป ดังที่ทหารคณะนี้ก็ประกาศไว้เป็นสัญญาประชาคมว่า “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” ซึ่งนั่นน่าจะเป็นเจตนาของทหารมาโดยตลอด เพียงแต่ว่าทหารคณะนี้ต้องมาเจอ “เป้าหมายพิเศษ” ที่ไม่ใช่ของทหารคณะนี้ตามลำพัง แต่เป็น “พันธะทางสังคม” หรือความผูกพันเพื่อชาติบ้านเมืองที่มีมาแต่โบราณกาล ที่ทำให้ทหารคณะนี้จำเป็นต้องอยู่ในอำนาจต่อไป ซึ่งทหารก็ไม่อาจจะพูดอะไรออกมาได้อย่างเต็มปากเต็มคำ เพราะทหารก็คิดว่าคนที่รักชาติบ้านเมืองทุกคน “ต้องรู้” และเข้าใจภาวะอันจำเป็นเช่นนี้ ถ้าจะถามใจพลเอกประยุทธ์จริง ๆ บางทีท่านอาจจะบ่นอยู่ในใจว่า “ข้าทำบุญอะไรมาหนอ จึงต้องมาอยู่ในฐานะที่คนอิจฉาจนกระทั่งอยากขับไล่อย่างทุกวันนี้ แต่ข้าน่าจะต้องทำกรรมอะไรมาบ้างหละ ที่จะต้องไม่มีทางเลือกในการที่จะลงจากตำแหน่งนี้” พลเอกประยุทธ์อาจจะต้องการความสุขความสบายในช่วงปลายของชีวิต แต่เมื่อเป็น “ชายชาติทหาร” ก็ไม่อาจจะปฏิเสธหน้าที่อันเป็นพิเศษเฉพาะทหารนี้ได้ เมื่อลุงตู่ต้องอยู่ต่อ ก็ไม่ใช่เพราะต้องทนอยู่ แต่เพื่อให้ทุกอย่างแบบนี้ “คงอยู่” ต่อไป