ข่าวการเสียชีวิตของบุคคลากรทางการแพทย์จากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แม้จะมีฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว นับเป็นข่าวที่สร้างความหวั่นวิตกต่อสังคม ระบบสาธารณสุข ที่สำคัญคือขวัญและกำลังใจของบุคคลากรทางการแพทย์ แม้ข้อมูลจากพญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีน 2โดสแล้วมีโอกาสเสียชีวิตได้หรือไม่นั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขตอบคำถามมาว่ายังมีความเป็นไปได้ โดยข้อมูลในลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา มีผู้ฉีดวัคซีนครบ 2 โดสไป 4.5 ล้านคน แต่ยังพบอัตราผู้ติดเชื้อที่น้อย จำนวน 2,190 คน คิดเป็น 0.048% ในจำนวนนี้มี 192 คนที่มีอาการป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล คิดเป็น 0.042% และ พบผู้เสียชีวิต 20 คน หรือ 0.004% จึงเป็นข้อสรุปที่ว่าแม้ฉีดวัคซีนครบ 2 โดส แต่ยังสามารถเป็นผู้ติดเชื้อ ผู้แพร่เชื้อ อาจมีอาการทรุดหนักถึงขั้นเสียชีวิตได้ พญ.อภิสมัย ระบุว่าผู้เชี่ยวชาญสหรัฐอเมริกาวิเคราะห์ว่ากลุ่มที่มีความเสี่ยงที่ฉีดวัคซีนครบแล้วยังอาจกลายเป็นผู้ป่วยหนักหรือเสียชีวิตคือ คนไข้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอยู่ก่อนแล้ว เช่น คนไข้กลุ่มที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะที่จำเป็นต้องได้รับการกดภูมิคุ้มกัน หรือผู้ที่อยู่ดงเชื้อที่มีการแพร่ระบาดหนัก โดยเฉพาะที่ลอสแอนเจลิสที่พบเป็นสายพันธุ์สายเดลต้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก สำหรับประเทศไทยการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ในขณะนี้ เกิดจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะไวรัสสายพันธุ์เดลตา ทำให้บุคคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานหนักและมีความเสี่ยงสูงในช่วงที่ผ่านมา แม้ทางรัฐบาลโดย น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะทวีตข้อความในทวิตเตอร์ว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)ยืนยัน วัคซีนไฟเซอร์ ล็อตที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา 1.5 ล้านโดส จะฉีดให้กับบุคคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าทั่วประเทศ กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้มี 7 โรคเสี่ยง พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงความเครียดในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ มีการสำรวจสม่ำเสมอ และมีช่องทางจัดการให้กลุ่มบุคลากรที่ทำงานหนักอ่อนล้าได้ระบาย และมีวิธีพูดให้กำลังใจ และคิดว่าชีวิตไม่ได้มีเรื่องงานอย่างเดียว เพราะส่วนใหญ่บุคลากรมุ่งทำงานอย่างเสียสละ ต้องทำงานเป็นผลัด และยังต้องกัก 14 วัน ทำให้บางคนเกิดความเครียด เพราะไม่ได้พบปะครอบครัว ซึ่งความเครียดในบุคลากรที่พบ มีทั้ง 1.เครียดเหนื่อยเพราะงานหนัก และอ่อนล้า ทำไมสถานการณ์ไม่คลี่คลาย 2.เครียดกังวลติดเชื้อ 3.เครียดกังวลเกี่ยวกับครอบครัว ทั้งการไม่ได้พบปะ หรือไปพบปะครอบครัวก็กลัวติดเชื้ออีก เราจึงหวังว่าบุคคลากรแพทย์จะมีเกราะคุ้มกันที่เข้มแข็ง ทั้งกายและใจที่เข้มแข็งและเร่งด่วน