ทวี สุรฤทธิกุล
ว่ากันว่าคนไทย “มักใหญ่ใฝ่สูง” ชอบเป็นใหญ่เป็นโต มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่คิดว่า “ความเป็นใหญ่เป็นโต” วัดกันที่ “การวางก้าม” หรือการแสดงออกซึ่งอำนาจให้มากๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งองค์กรอิสระหลายๆ แห่ง เช่น คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ยึดติดอยู่ในแนวคิดนี้เสมอมา
ตอนที่ผู้เขียนในฐานะประธานอนุกรรมาธิการประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ประจำจังหวัดนนทบุรี ออกรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ผู้คนจำนวนมากเห็นด้วยที่จะให้ กกต.มีอำนาจค่อนข้างเด็ดขาดในการดูแลการเลือกตั้งและควรจัดการกับคนที่โกงการเลือกตั้งด้วยมาตรการรุนแรง อันเป็นที่มาของการให้อำนาจแก่ กกต.ในการให้ใบเหลืองใบแดงที่หลายคนชื่นชมว่า กกต.ชุดแรกทำงานได้มีประสิทธิภาพดีมาก
ในฐานะที่ผู้เขียนอยู่ในกระบวนการปฏิรูปทางการเมืองใน พ.ศ. 2540 มาตั้งแต่ต้น และติดตามศึกษามาจนถึงปัจจุบัน พบว่า กกต.มีพัฒนาการที่น่าสนใจ แต่เป็นในด้านที่ไม่ค่อยจะดีนัก กล่าวคือ
ประการแรก กกต.ยังถูกครอบงำด้วย “วัฒนธรรมใหญ่” ในสังคมไทย นั่นก็คือ “อำนาจนิยม” และ “ระบบอุปถัมภ์” พูดง่ายๆ ก็คือ ยังชอบที่จะมีอำนาจมากๆ ในขณะเดียวกันก็เกรงกลัวผู้มีอำนาจ ร่วมกับความคิดแบบเกรงอกเกรงใจ ผู้น้อยผู้ใหญ่ และการช่วยเหลือเกื้อกูล ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างอิหลักอิเหลื่อ ยิ่งต่อมามีการลดอำนาจลงเหลือเพียงให้ใบเหลือง ก็ยิ่งทำให้ กกต.มีความลังเลในการตัดสินใจ ส่งผลให้มีคดีคั่งค้าง และนำไปสู่ความคิดในการขยายอำนาจ สร้าง กกต.จังหวัด เพิ่มความเป็นระบบราชการเข้าไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่ใช่แนวคิดเดิมของ กกต.ที่เน้นความเข้มแข็งเด็ดขาด แบบ “ไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม” และใช้ระบบประสานงานเพื่อสร้างความร่วมมือในการทำหน้าที่ ซึ่ง กกต.ไม่เคยทำได้เลย
ประการต่อมา อันเป็นผลจากการขาดประสิทธิภาพในการตัดสินใจและการประสานงาน กกต.ก็กลายเป็น “อึ่งอ่างพองลม” คือพยายามที่จะทำตัวเองให้ดูใหญ่โตมากขึ้นไปอีก โดยคิดง่ายๆ ว่าเมื่อขยายองค์กรเป็นระบบราชการเสียใหญ่โตแล้วก็ยังทำงานไม่ดีขึ้น จึงหันไปคิดเพิ่มอำนาจตนเองด้วยการไปเพิ่มบทบาทหน้าที่บางอย่างไว้ในกฎหมาย เท่าที่ทราบก็คือให้มีอำนาจในการจับกุม สืบสวน สอบสวน และดำเนินคดีกับผู้ทุจริตในการเลือกตั้งได้ ซึ่งก็คือนอกจากจะทำหน้าที่เป็น “ผู้ว่าราชการการเลือกตั้ง” แล้ว ก็ยังอยากจะเป็น “ผู้บัญชาการการเลือกตั้งแห่งชาติ” อีกด้วย คือทั้งจัดการการเลือกตั้งและควบคุมกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด แบบว่าเป็นทั้ง ตำรวจ อัยการ และศาลไปพร้อมกัน
ประการสุดท้าย กกต.ได้ฉวยโอกาสจากกระแสการเมืองที่ “รังเกียจนักการเมือง” ที่ประชาชนพากันประณามนักการเมืองชั่วๆ และเกลียดกลัวการทุจริตคอร์รัปชั่น พร้อมกันนั้นก็เชียร์หรือชื่นชอบทหารผู้ใช้อำนาจเผด็จการเข้ามาจัดการกับนักการเมืองชั่วๆ เหล่านั้น กกต.ก็พยายามที่จะเอาอกเอาใจทหารโดยการพยายาม “ปรับ” บทบาทให้สอดคล้อง เช่น การร่างกฎหมายการเลือกตั้งและพรรคการเมืองให้ “ดุเดือด” ตามไปด้วย อย่างที่มี กกต.บางคนออกมาอวดสรรพคุณว่า “ตั้งยาก อยู่ยาก ยุบยาก” อันขัดกับหลักการของประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง รวมถึงความพยายามที่จะตั้งตนอยู่เหนือประชาชน ด้วยการลดบทบาทหน้าที่ของภาคประชาชนในการควบคุมดูแลการเลือกตั้ง ด้วยการกล่าวหาว่าที่ผ่านมามีปัญหามาก
จึงไม่แปลกใจที่คนจำนวนมากรู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้อง “ปฏิรูป กกต.” เสียที โดยการจุดประเด็นของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ได้แก่ การยุบ กกต.จังหวัด การลดจำนวนกรรมการการเลือกตั้ง และการเน้นให้ใช้อำนาจผ่านผู้ที่มีหน้าที่ในการปราบปรามและจับกุมตามปกติ คือตำรวจและมหาดไทย เพื่อจัดการกับผู้ทุจริตในการเลือกตั้ง ทั้งนี้ก็ไม่มีเหตุผลอื่นใดเลย นอกจากเหตุผลจากความล้มเหลวของ กกต.ที่ “แย่ลงเรื่อยๆ” ดังที่กล่าวมาทั้ง 3 ประการนั้น เพราะแม้จะให้ “ร่างใหม่ใหญ่ยักษ์” อย่างที่ได้สร้าง กกต.จังหวัดและเอาระบบราชการเข้ามาใส่ ก็ยังทำงานไม่ดีขึ้น รวมถึงที่ได้มอบ “กระบอง” คือให้อำนาจหลายอย่างมากขึ้น ก็ดูเหมือนว่ายังทำอะไรได้ไม่เท่าที่ควร ดังนั้นเมื่อ กกต.เป็นได้แค่ “ยักษ์ใหญ่ใช้กระบองไม่เป็น” ก็ควรที่จะ “ล้มยักษ์” หรือทำอะไรที่ดีขึ้นเพื่อการปรับปรุงแก้ไขการทำงานของ กกต.
สิ่งหนึ่งก็คือ “การปฏิรูปกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเลือกตั้ง” กกต.ควรจะกลับเข้าหาประชาชน ขอความร่วมมือจากประชาชน ช่วยสนับสนุนให้องค์กรภาคประชาชนเข้มแข็งมากกว่าที่เป็นอยู่ และเมื่อพบว่าองค์กรภาคประชาชนที่ผ่านมามีความบกพร่อง ก็ต้องแก้ไข ไม่ใช่ “ตัดญาติขาดมิตร”
ครั้งที่พวกเรา(นักปฏิรูปการเมือง)คิดสร้าง กกต.ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2540 นั้น เราก็หวังไว้มากว่า กกต.นี่แหละนอกจากจะช่วยจัดการการทุจริตในการเลือกตั้วและเอาผิดกับนักการเมืองชั่วๆ ได้แล้ว ยังหวังไปถึงขนาดว่าจะได้มาช่วยสร้างประชาธิปไตยและทำให้การเมืองไทยมีความศิวิไลซ์ก้าวหน้า อย่างหนึ่งก็คือการ “ยกระดับ” ในสิทธิอำนาจโดยการให้ความสำคัญ “เห็นหัว” ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริงอย่าทำตัวเป็นยักษ์ใหญ่ที่ “เหยียบหัว” ประชาชน