มีข่าวเล็ก ๆ ว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)แถลงผลสำรวจสถานการณ์ระดับสติปัญญา (ไอคิว) และระดับความฉลาดทางอารมณ์ (อีคิว) ของเด็กไทยช่วงชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในปี 2559 กว่า 23,644 คน พบว่าเด็กไทยมีค่าเฉลี่ยไอคิวอยู่ที่ระดับ98.2 ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นจากการวัดผลเมื่อปี 2554 โดยขณะนั้นอยู่ที่ระดับ 94 แต่ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมา 4.2 นี้ ผู้เชี่ยวชาญก็ยังมองว่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากลที่กำหนดอยู่ในระดับ 100
ไอคิว (IQ) หรือ Intelligence Quotient คือ ความสามารถทางเชาวน์ปัญญา ซึ่งรวมไปถึงการคิด การเชื่อมโยง การใช้เหตุผล การคำนวณ สามารถวัดออกมาเป็นค่าสัดส่วนตัวเลขที่แน่นอนด้วยแบบทดสอบทางสติปัญญา ระดับของไอคิวปกติอยู่ใน ช่วง 90-110 คนที่มีระดับไอคิวสูงจะเป็นคนเก่งมีสมองรับรู้ว่องไว เรียนหนังสือเก่ง พ่อแม่ทุกคนจึงปรารถนาให้ลูกมีไอคิวสูง แม้ศักยภาพทางสมองนั้นเป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ไม่ง่ายนัก แต่พ่อแม่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อพัฒนาสมองให้ลูกได้
โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว ในวงการสังคมไทยคงจะให้ความสำคัญกับ “ไอคิว” มากกว่า “อีคิว” ดังเช่นที่กระทรวงสาธารณะสุขแถลงการณ์ผลการสำรวจในครั้งนี้ แต่ว่าการวัดระดับไอคิวนั้นก็เป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่ตั้งอยู่บนฐานการพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคม ซึ่งมีรูปธรรมที่เปลี่ยนแปลงตลอด เด็กที่เติบโตในสังคมที่แตกต่างกันในระดับพัฒนาการทางวัตถุ ย่อมจะมีระดับไอคิวต่างกันเป็นธรรมดา แต่ระดับไอคิวนั้นมิใช่หลักประกันของคุณภาพมนุษย์ “อีคิว” หรือระดับความฉลาดทางอารมณ์ต่างหากสำคัญกว่า
สถานการณ์ระดับไอคิวของเด็กในแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของระบบเศรษฐกิจ และสถานะประชากรซึ่งส่วนใหญ่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฟินแลนด์ เยอรมนี ระดับสติปัญญาของเด็กในประเทศเหล่านี้จะมากกว่า 110 ขึ้นไป ส่วนประเทศที่กำลังพัฒนาระดับสติปัญญาเด็กจะอยู่ในช่วงใกล้เคียง 100 ประมาณ 90-110 ผลการสำรวจของกระทรวงสาธารณะสุขพบว่า ระดับสติปัญญาของเด็กไทยปัจจุบันอยู่ระดับ 98 ถือว่าเป็นผลที่น่าพอใจ แต่อีกมุมหนึ่งที่ในปัจจุบันโลกมีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีมากขึ้น กลับพบว่าเด็กบางส่วนที่อยู่ในเขตเมืองมีระดับไอคิวสูงกว่า 100แต่ระดับการพัฒนาการของไอคิวกลับหยุดนิ่ง ซึ่งพบว่ามีสาเหตุมาจากการใช้แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน มากจนเกินไป จึงทำให้เด็กขาดพัฒนาทางความคิด ซึ่งปัจจัยหนึ่งมาจากการที่ผู้ปกครองเข้าใจผิดคิดว่าอุปกรณ์เหล่านี้จะเป็นตัวช่วยในการเพิ่มความฉลาดให้กับเด็กจึงอาจปล่อยให้เด็กเล่นศึกษาเพียงลำพังโดยไม่ได้ติดตามดูแล จึงมีความเสี่ยงที่จะทำให้สติปัญญาไม่ได้รับการพัฒนาอย่างที่ควรจะเป็น
มีรายงานชี้ว่าเด็กที่จมอยู่กับอุปกรณ์เหล่านี้มากจนเกินไป จะเป็นตัวดึงรั้งพัฒนาการทางด้านความคิด การเรียนรู้ การอ่าน การเขียน รวมไปถึงการอยู่ร่วมในสังคมให้เกิดการชะงัก ซึ่งในเด็กกลุ่มนี้ต้นทุนชีวิตไม่ได้แย่แต่ถูกละเลยจากการเลี้ยงดูโดยที่ผู้ปกครองเอาแท็บเล็ต สมาร์ทโฟน ไปเลี้ยงดู เมื่อพิจารณาประกอบกับผลสำรวจ อีคิว ของเด็กไทยในรอบสิบปีที่ผ่านมา ก็ยิ่งน่าห่วง เพราะ “อีคิว” ของเด็กไทยต่ำ... ไอคิวต่ำไม่เป็นภัย แต่อีคิวต่ำสะท้อนคุณภาพสังคม
เรายังไม่เห็นผลการสำรวจ อีคิว ของปีนี้ แต่ก็มีหลักฐาน ผลสำรวจความฉลาดทางอารมณ์เด็กนักเรียนไทยอายุ 6-11 ปี ปี 2554 พบว่ามีคะแนนความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) เฉลี่ยระดับประเทศอยู่ระดับต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ซึ่งมีจุดอ่อนทั้งสามองค์ประกอบใหญ่ คือ ดี เก่ง สุข และเมื่อพิจารณาองค์ประกอบย่อยในแต่ละด้าน จะพบว่า จุดอ่อนที่น่าห่วงมากที่สุดด้าน อีคิว ของเด็กไทย คือด้านความมุ่งมั่นพยายาม รองลงมาคือด้านความกล้าแสดงออก ด้านความรื่นเริงเบิกบาน และด้านความใส่ใจเข้าใจอารมณ์คนอื่น