ทองแถม นาถจำนง คนกรุงเทพที่เป็นวัยรุ่นในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง คงจำช้างหลวงที่ชื่อเสียงโด่งดังชื่อ “แม่พังแป้น” ได้ สมัยโน้นโรงช้างหลวงอยู่ที่หลังโบสถ์วักพระแก้ว บริเวณ “ท่าช้างวังหลวง” ก็คือท่าน้ำที่เจ้าพนักงานช้างหลวงนำช้างลงไปอาบน้ำ ซึ่งถ้ามีรถรางแล่นมาพอดีกับเวลาที่ช้างลงอาบน้ำที่ท่าช้าง ช้างก็ต้องวิ่งไล่รถรางทุกครั้งไปจนเมื่อถึงวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ช้างหลวงถูกประมูลขายไปเกือบหมด ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนเล่าเรื่องแม่พังแป้นไว้ว่า “ผู้ที่ถูกกระทบกระเทือนจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 มากที่สุด ก็เห็นจะได้แก่ช้างหลวงซึ่งยืนโรงอยู่ที่หลังโบสถ์วัดพระแก้ววังหน้านั่นเอง พังแป้นเป็นช้างหลวงซึ่งขึ้นระวางมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อถึงปี 2474 นั้นมีอายุร้อยปีเศษแล้ว และเป็นที่นิยมนับถือของประชาชนทั่วทั้งกรุงเทพฯ ใครมีลูกอ่อนแอไม่แข็งแรง  ก็เอาไปลอดใต้ท้องพังแป้น และให้พังแป้นเอางวงลูบไล้ตามเนื้อตัว บางทีพังแป้นก็เอางวงดูดน้ำแล้วพรมน้ำมนต์ให้  เด็กนั้นก็มักจะหายไข้เจ็บเลี้ยงง่ายและแข็งแรงดีต่อไป พังแป้นเป็นช้างรักเด็ก เด็กเข้าไปเล่นด้วยได้อย่างใกล้ชิดเสมอ ผมเองตกบ่ายกลับจากโรงเรียน ก็มักจะไถลแวะเข้าไปเล่นกับพังแป้นอยู่บ่อยๆ สู้อุตส่าห์เก็บค่าขนมไว้ซื้ออ้อยให้พังแป้นก็เคยทำ เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา ก็มีคำสั่งให้เอาช้างหลวงทั้งปวงรวมทั้งพังแป้นออกไปทำงานป่าไม้ในต่างจังหวัดเมื่อช้างซึ่งมีอายุถึงร้อยปีเศษต้องรับเคราะห์กรรมอย่างนั้น ความทารุณของระบอบประชาธิปไตย ก็ประจักษ์แก่คนทั้งปวงสิทธิและเสรีภาพได้เกิดขึ้นแล้ว ความเสมอภาคได้เกิดขึ้นแล้ว แต่ความเมตตากรุณานั้นหายไปเมื่อถึงวันที่จะต้องออกจากพระนคร พังแป้นก็เดินออกจากโรงมุ่งหน้าไปยังจังหวัดนนทบุรีพังแป้นเดินไปก็ร้องไห้ไป น้ำตาไหลอาบหน้าแต่พังแป้นก็มิได้ขัดขืน เพราะพังแป้นคงจะมีชีวิตอยู่มานานพอที่จะเข้าใจได้ว่า ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกาลตามสมัย แต่ที่เขตจังหวัดพระนครนั้นมีประชาชนชาวกรุงเทพฯ ไปรอส่งพังแป้นอยู่เนืองแน่น พอพังแป้นไปถึง ประชาชนก็เข้ามาล้อมหน้าล้อมหลังด้วยความสงสารและความอาลัยพังแป้นก็ร้องไห้ร่ำลาประชาชน เอางวงจับมือจับแขนคนที่เข้าไปหา หรือมิฉะนั้น ก็เอางวงโอบหลังกอดรัดแสดงความอาลัย ประชาชนเห็นดังนั้นก็เกิดเข้าใจในสิทธิตามระบอบประชาธิปไตยของตนขึ้นมาเฉยๆคือสิทธิที่จะแสดงความเมตตากรุณาต่อสิ่งที่ตนรักและสิทธิที่จะแสดงประชามติกำหนดการให้เป็นไปตามใจตน โดยไม่ต้องคำนึงว่าพระยาพหลฯ หรือรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นลูกของพระยาพหลฯ นั้น จะสั่งว่าอย่างไร เมื่อรู้ดังนั้นแล้ว ประชาชนก็เข้ากั้นขวางพังแป้นไว้ มิให้ออกไปจากกรุงเทพฯ  พังแป็นก็หยุดอยู่เพียงแค่นั้นรัฐบาลพระยาพหลฯ ได้ทราบถึงประชามติอันรุนแรงของประชาชนนี้เข้า ก็เปลี่ยนความคิดและถอนคำสั่ง อนุญาตให้นำตัวพังแป้นกลับเข้ามายืนโรงต่อไปตามเคย พังแป้นก็อยู่ในกรุงเทพฯ ต่อมาจนสิ้นอายุขัย มาล้มเอาเมื่อระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพานี้เองเพราะตอนนั้นดูเหมือนหญ้าที่จะเลี้ยงช้างขาดแคลน เนื่องจากการคมนาคมขนส่งไม่สะดวก เจ้าพนักงานต้องเอาทางมะพร้าวให้ช้างหลวงกิน พังแป้นผู้ซึ่งสูงอายุอยู่แล้ว ต้องกินทางมะพร้าวเป็นอาหารทุกวัน ก็ท้องผูกทนไม่ได้ มาล้มเอาตอนนั้น ดูเหมือนจะอายุร้อยห้าสิบปีเศษ” ยังมีตำนานพังแป้นอีกเรื่องหนึ่งพบในเฟสบุ้คของ “นักเลง โบราณ ตำนานหนังเหนียว” เรื่องนี้ต่างกับเรื่องของ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ อยู่หน่อยตรงเรื่องอายุของพังแป้น กับเรื่องตรงที่ว่า สิบโทชื่น เครือมิ ทหารชาวจังหวัดตาก ถวายช้างพังกำพร้าอายุ 2 ขวบแด่รัชกาลที่ 7 แล้วรัชกาลที่ 7 ทรงตั้งชื่อว่า “พังแป้น” นั้นดูจะขัดแย้งกับอายุจริงของ “พังแป้น” ที่ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ เล่าไว้มาก และท้ายบทความของ “นักเลง โบราณ ตำนานหนังเหนียว” ก็บอกไว้ว่า พังแป้นเกิดปี 2400 ล้มปี 2480 เรื่องที่ว่าสิบโทชื่น ทูลเกล้าถวายพังแป้นแด่รัชกาลที่ 7 จึงเป็นเรื่องผิดพลาดสับสนแน่นอน ส่วนเรื่องที่ว่า “พังแป้น” มีลูกบุญธรรมชื่อ “ชุบ” และเคยตกมันเหยียบเจ๊กลากรถตายนั้น ก็น่าสงสัยว่าคือ “แม่พังแป้น” ผู้อาวุโส หรือว่าสับสนเรื่องชื่อกับช้างพังเชือกอื่น อย่างไรก็ตาม เรื่องที่รัฐบาลประมูลขายช้างหลวงไปทำไม้ในต่างจังหวัดนั้นเป็นเรื่องจริง ส่วนเรื่องที่ว่าแม่พังแป้นไปล้มสิ้นชีวิตที่จังหวัดนครสวรรค์ระหว่างเดินทางไปภาคเหนือหลังจากถูกประมูลขายไปแล้วนั้น อาจจะสับสนกับช้างเชือกอื่น ๆ