ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์
“ตลอดทางที่ผ่านมา มีแต่ความรักที่ให้ผม มีแต่รอยยิ้มที่ให้กัน มันเป็นสีชมพูครับ”
คำตอบของ “ตูน” ซึ่งตอบผู้สื่อข่าวที่มาสัมภาษณ์ด้วยคำถามว่า “ก่อนหน้านี้เราเห็นภาพของภาคใต้เป็นพื้นที่สีแดง แต่วันนี้มาสัมผัสด้วยตัวเองรู้สึกยังไงบ้าง” เหมือนได้ทลายกำแพงแห่งความสงสัยลงไป โดยเฉพาะกับคำถาม “ไม่กลัวหรือที่จะต้องไปเริ่มต้นวิ่งที่เบตง แล้วผ่านเส้นทางอันตรายทั้งนั้น” ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ อัยเยอร์เวง ธารโต บันนังสตา กรงปินัง ฯลฯ หากทว่า “รอยยิ้ม” ของตูนขณะวิ่งผ่าน “เรดโซน” หรือพื้นที่สีแดง ที่ทั้งสื่อและผู้คนจำนวนหนึ่งเชื่อว่าเป็นพื้นที่อันตรายสุด นอกจากสะท้อนความไม่กลัวเกรงแล้ว ยังสามารถผูกสัมพันธ์ผู้คนมากมายที่มายืนรอริมถนนเพื่อร่วมบริจาคเงินและคอยต้อนรับด้วยความยินดี ทั้งเด็กเล็ก-ผู้ใหญ่-คนสูงอายุ ทั้งพุทธ-มุสลิม
นักร้องหนุ่ม อาทิวราห์ คงมาลัย หรือ “ตูน บอดี้สแลม” นำทีมวิ่งในโครงการ “ก้าวคนละก้าว เพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ” โดยออกสตาร์ทจากอุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ อ.เบตง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 และผ่านอำเภอเมืองยะลา อีก 3 วันต่อมา ตั้งเป้าถึง อ.แม่สาย จ.เชียงราย วันที่ 25 ธันวาคม 2560 รวมระยะทาง 2,191 กิโลเมตร เพื่อหาเงินบริจาคซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับ 11 โรงพยาบาลศูนย์ทั่วประเทศ
เขาเกิดเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2522 ที่จังหวัดสุพรรณบุรี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยระดับเกียรตินิยมอันดับ 1 เป็นผู้เข้าแข่งขันกีฬาเทเบิลเทนนิสระดับชาติอย่างต่อเนื่อง กระทั่งได้รับเชิญเป็นทูตกีฬาเทเบิลเทนนิส จากสมาคมเทเบิลเทนนิสแห่งประเทศไทย ได้รับรางวัลในฐานะ “ลูกกตัญญูดีเด่น” เนื่องในวันแม่แห่งชาติ พ.ศ.2549 เป็นนักร้อง/นักแต่งเพลงวงร็อคสัญชาติไทย “บอดี้ สแลม”
ด้วยต้นทุนที่มีอยู่แล้ว กอปรกับการ “ลงมือทำ” กิจกรรมสร้างสรรค์ให้แก่สังคมอย่างจริงจัง ทำให้ชื่อของ ตูน บอดี้สแลม กลายเป็น “ไอดอล” ของผู้คนทั่วประเทศ มีคนมาร่วมวิ่ง มาต้อนรับ และขอ “เซลฟี่” กันมากมาย
ก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ.2559 เขาสร้างปรากฏการณ์สำคัญ ด้วยการทำโครงการ “ก้าวคนละก้าว เพื่อโรงพยาบาลบางสะพาน” นำเงินบริจาคมอบให้โรงพยาบาลบางสะพาน เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ โดยวิ่งจากกรุงเทพมหานครสู่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่วันที่ 1-10 ธันวาคม 2559 วันละ 40 กิโลเมตร รวมระยะทาง 400 กิโลเมตร ก่อนที่จะตามมาด้วยโครงการ “ก้าวคนละก้าว เพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ”
“พี่ตูน” เจ้าของเสียงร้องเพลง “แสงสุดท้าย” ของวงบอดี้ สแลม กลายเป็นแสงแรกแห่งแรงบันดาลใจให้ผู้คนมากมาย ภาพที่สื่อมวลชนถ่ายทอดบรรยากาศการวิ่ง จะเห็นชาวบ้านยืนรอต้อนรับตลอดสองข้างทาง หลายคนถึงขนาดนำกระแสตูนฟีเวอร์ ไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่ตนเองหรือองค์กรที่ตนเองสังกัดอยู่ดำเนินมาก่อนหน้า หรือกับ “ความต่าง” ที่ตนศรัทธา ผู้เขียนเห็นว่า แทนที่จะมองที่กระแสตูน คงต้องกลับไปมอง “ตัวเอง” เป็นหลักก่อน ว่ามีจุดบกพร่องตรงไหน ทำไมทำกิจกรรมดีๆ แล้วถึงไม่ได้รับการยอมรับ หรือไม่อาจสร้างกระแสได้เทียบเท่า
หลายคนวิพากษ์ในประเด็นว่าด้วย “หลักการทางศาสนา” ซึ่งว่าไปแล้ว ตามหลักการของศาสนาอิสลาม เป็นสิ่งไม่เหมาะสมเมื่อมุสลิมมะห์ที่สวมฮิญาบถ่ายภาพกับชายที่ไม่ใช่สามีหรือญาติ แต่น่าเสียดายที่ท่วงทำนองของการว่ากล่าวตักเตือน กลับ “สุดโต่ง” เต็มไปด้วยอารมณ์ ขาดเหตุผลและเจตนาที่ดีมารองรับ กระแสจึงถูกตีกลับโดยทันที
หลายคนวิจารณ์ถึงระดับ “โครงสร้าง” ตีกระทบชิ่งถึงรัฐบาล ภาคราชการ หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงด้านสาธารณสุข แต่กลับไม่ย้อนมองตัวเองว่าได้ลงมือทำอะไรบ้างที่ก่อให้เกิดผลดี แม้ไม่ถึงขั้นหวังทลายปราการระดับโครงสร้าง แต่อย่างน้อยก็ขอให้สร้างแรงบันดาลใจระดับ “ปัจเจก” ได้บ้าง ในสังคมที่ถูกมองว่ากำลังอ่อนแอ
หากทว่า หลายคนวิเคราะห์กระแส “ตูนฟีเวอร์” อย่างน่าสนใจ มีเหตุมีผล มี “แรงบันดาลใจ” ใหม่ และเป็นปรากฏการณ์สำคัญสะท้อน “สังคมพหุวัฒนธรรม” อย่างเป็นธรรมชาติในพื้นที่ชายแดนใต้ เช่นที่ หลวงเปี๊ยก ทีมงานกะเบ่อะเมา ผู้นำชุมชนที่ธารโต บอกว่า “ถือเป็นอีกหนึ่งประวัติศาสตร์ชายแดนใต้ที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มทำอย่างไรถึงจะได้มีภาพแบบนี้บ่อยๆ” ขณะที่ นิโอะ นิมุ นักการศึกษาคนสำคัญที่นราธิวาส โพสต์ภาพและข้อความในเฟซบุ๊กว่า “แห่แชร์ภาพแห่งความตื้นตัน ตูน บอดี้สแลม รับสลามกับชาวมุสลิม สานสัมพันธ์ด้ามขวานให้จับมือกันได้อีกครั้ง”
สุวรา แก้วนุ้ย อาจารย์จาก มอ.ปัตตานี สะท้อนปมคำถาม “ชายแดนใต้ได้อะไรจากโครงการก้าว” ได้อย่างรอบด้านว่า มากกว่าเงินบริจาคให้โรงพยาบาลยะลา คือ ความรักและสิ่งสวยงามในพื้นที่ที่ปรากฏสู่สาธารณะ การเริ่มต้นวิ่งจากใต้สุดแดนสยาม อ.เบตง พื้นที่ความขัดแย้งรุนแรงถึงตายที่หลายคนหวาดกลัว นับเป็นความกล้าหาญ และการเปลี่ยนแปลงความรู้สึกของผู้คนต่อพื้นที่นี้ยิ่งนัก หากมองถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในบางมุมที่ได้เฝ้ามอง พบว่า 1) สังคมภายนอกเห็นความงดงามของธรรมชาติในพื้นที่ : เส้นทางหลักที่พี่ตูนวิ่ง ตั้งแต่จุดเริ่มต้นวันแรก ไปยังจุดพักต่างๆ ได้ผ่านความงดงามตามธรรมชาติในพื้นที่ที่ถูกซ่อนเร้นเอาไว้ ยังไม่ค่อยปรากฏสู่สาธารณะมากนัก เช่น ความงามของภูเขา ทะเลหมอก แม่น้ำ หรือน้ำตก ในพื้นที่ อ.เบตง อ.ธารโต อ.บันนังสตา การวิ่งไปไลฟ์สดไปด้วย ทำให้สิ่งเหล่านี้ถูกสื่อสารออกสู่ภายนอก จนสังเกตเห็นหลายต่อหลายคอมเม้นท์ที่อยากมาเที่ยว มาปั่นจักรยาน หรือมาเยือนพื้นที่นี้สักครั้ง 2) สังคมภายนอกเห็นวิถีชีวิตและมีโอกาสเข้าใจวัฒนธรรมของพื้นที่นี้มากขึ้น : การวิ่งนับเป็นเครื่องมือในการพบปะผู้คน อย่างตั้งใจหรือไม่ตั้งใจฉันไม่รู้ แต่การวิ่งครั้งนี้ทำให้คนไทยทั้งประเทศ และผู้คนอีกหลายแห่งบนโลกใบนี้ เห็นว่าความเป็นอยู่และวัฒนธรรมพี่น้องมุสลิม พี่น้องพุทธ ในพื้นที่ ยังมีความเป็นอยู่ที่พึ่งพิงกัน และพวกเราก็ยังเป็นคนธรรมดาที่ไม่ได้น่ากลัวกว่าคนซีกอื่นของประเทศ และ “เราน่ารักกว่าที่หลายคนคิดนะ”
3) ผู้คนจากชายแดนใต้/ปาตานีมีรอยยิ้มแห่งความสุข ที่สื่อสารให้ผู้คนในประเทศ และโลกใบนี้ : หลายคนหวาดกลัวที่จะมาเยือนชายแดนใต้ แค่บอกชื่อจังหวัดว่ามาจาก ยะลา นราธิวาส ปัตตานี ให้คนข้างนอกฟัง หลายครั้งเราก็ถูกหวาดกลัวโดยเราไม่รู้ตัวว่าทำอะไรผิด หลายคนมองว่าเราคงมีทุกข์มากกว่าสุข แต่ในมุมของสิ่งที่เกิดขึ้นจากการวิ่งตลอด 5 วันที่ผ่านมา พวกเราพร้อมเป็นผู้ส่งความสุขให้สังคมนี้ ไม่ต่างจากผู้คนที่อยู่ในพื้นที่อื่น และเราเองต้องการความสุขที่ส่งจากภายนอก
เข้ามาเช่นกัน 4) พวกเราเกิดปฏิสัมพันธ์กันเองภายใน ที่ลดช่องว่างทางความไม่ไว้ใจ : จากสถานการณ์ที่มีความรุนแรง ทำให้ความสัมพันธ์ของผู้คนจางหายไปมาก หลายครั้งประชาชนก็จะหวาดระแวงเมื่ออยู่ใกล้เจ้าหน้าที่ และพี่น้องพุทธจะทักทายพี่น้องมุสลิมน้อยลง แต่สิ่งที่ฉันได้เห็นระหว่างทางของการวิ่ง คือ ผู้คนในพื้นที่ต่างมีรอยยิ้มและมีน้ำใจให้กัน ไม่แบ่งฉันแบ่งเธอ ชาวบ้านกับทหาร/เจ้าหน้าที่รัฐ พูดคุยกันได้ เหมือนเราอยู่ด้วยกันมานานแต่แค่หวาดหวั่นที่จะใกล้กัน แต่ถ้าเราขยับเข้ามาใกล้กัน มีเครื่องมือสร้างความสัมพันธ์ “เธอกับฉันก็อยู่ร่วมกันได้ดังเดิม”
5) การแบ่งปันและเป็นผู้ให้ มีมากมายอยู่ในพื้นที่นี้ : น้ำใจที่หลั่งไหลมาสู่การบริจาคให้พี่ตูนมีทุกวัน ข้อมูลที่ปรากฏ คือ ยอดบริจาคริมทางที่พี่ตูนผ่านในพื้นที่ชายแดนใต้ มียอดบริจาคประมาณวันละ 1 ล้านบาท สิ่งนี้เป็นตัวสะท้อนว่ามีคนในพื้นที่จำนวนมากที่พร้อมเป็นผู้แบ่งปันให้กับคนอื่น แม้เราจะอยู่ในพื้นที่ที่มีสถานการณ์ไม่ปกติแบบส่วนอื่นของประเทศ แต่สิ่งนี้ก็ไม่เคยทำให้เราแล้งน้ำใจเลย
นั่นคือสิ่งที่ อ.สุวรา แก้วนุ้ย ฉายให้เห็นภาพอย่างน่าสนใจยิ่ง ผู้เขียนเชื่อว่าจุดสำคัญอย่างยิ่งอีกประการหนึ่งที่เกิดขึ้นต่อกระแสตูนฟีเวอร์ คือ การเป็น “ผู้สร้างแรงบันดาลใจ” ก้าวพ้นความเห็นต่าง สามารถร้อยรัดความรักคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกศาสนา โดยเฉพาะในพื้นที่อ่อนไหวเช่น “ชายแดนใต้” เช่นที่ตูนให้สัมภาษณ์สื่อว่า “ผมชอบทำมากกว่าพูด” ไม่ใช่เพียรหาช่องทางก่นด่าสร้างเรื่อง “ดราม่า” ไปวันๆ แทนที่จะลุกขึ้นมาร่วมทำ “ความดี” ให้ปรากฏ