รศ. ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
ไม่น่าจะเกินจริง ! ถ้าจะกล่าวว่า ประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤติสาธารณสุข อันเนื่องมาจากภาครัฐไม่สามารถบริหารจัดการเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้อยู่หมัด ทั้ง ๆ ที่พบการแพร่ระบาดมาตั้งแต่เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งแตกต่างจากหลาย ๆ ประเทศที่แม้ว่าประชาชนจะมีอัตราการติดเชื้อที่สูง แต่จำนวนผู้เสียชีวิตกลับน้อยคนลงเรื่อย ๆ ตามสถิติผู้ติดเชื้อโควิด-19 และเสียชีวิตของบ้านเรายังแตะนิวไฮ “ใหม่ในใหม่” เกือบทุกวันที่ศบค.ประกาศตัวเลขออกมา ล่าสุดมีผู้ติดเชื้อ 9,539 คน และเสียชีวิต 91 ราย (12 ก.ค. 64 และ 10 ก.ค. 64 ตามลำดับ) ส่วน “2 วัคซีนหลัก” ทั้งซิโนแวคและแอสตราเซเนกาที่จะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันและสกัดการระบาด มีตัวเลขผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วแค่เกือบ 13 ล้านคน แบ่งเป็นการฉีดเข็มแรกราว ๆ 11 ล้านคน และฉีดเข็มที่ 2 ราว ๆ 2 ล้านคน เท่านั้น
การบริหารจัดการด้านวัคซีนโควิด-19 ของไทย โฟกัสไปที่ซิโนแวคและแอสตราเซเนกาเป็นหลักเท่านั้น และการกระจายการฉีดวัคซีนก็ยังจำกัดและน้อยมาก ๆ จนล่าสุดมีการปล่อยชุดข้อมูลออกมาว่า ถ้าฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ป้องกันอัลฟ่าแตไม่ป้องกันเดลต้า ภูมิขึ้น 80-90% / ฉีดแอสตราเซเนกา 2 เข็ม ป้องกันได้ทั้งอัลฟาและเดลตาได้ระดับสูง ภูมิขึ้น 90% / ฉีดซิโนแวค 1 เข็ม + แอสตราเซเนกา 1 เข็ม ป้องกันเดลตาดีกว่าซิโนแวค 2 เข็ม แต่ไม่เท่า แอสตร้าเซเนก้า 2 เข็ม ภูมิขึ้น 75% / ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม + แอสตราเซเนกา 1 เข็ม ป้องกันเดลตาได้ระดับสูงสุด ภูมิขึ้น 99%
สำหรับตัวอย่างในสัปดาห์นี้ที่สะท้อนความเสี่ยงในเชิงการบริหารจัดการวิกฤติสาธารณสุข เช่น ประชาชนนับร้อยแห่ไปเข้าคิวรอข้ามวันข้ามคืนเพื่อขอรับการตรวจโควิดฟรี เป็นสถานการณ์เสี่ยงซ้อนเสี่ยง
จนต่อมาเริ่มมีข่าวว่า ‘อย.ปลดล็อกซื้อชุดตรวจโควิด-19 แบบ Antigen Rapid Test เอง 24 ยี่ห้อ’ แต่ช้า ๆ ก่อนประชาชนใช้ชุดตรวจเองเป็นหรือไม่ยังน่าเป็นห่วง เพราะถ้าใช้ผิดวิธี/ใช้ไม่เป็น ผลตรวจย่อมผิดพลาด แล้วสิ่งจะตามมาคือ “ล้มเหลวในล้มเหลว” หรือกรณีบุคลากรทางการแพทย์ต้องการวัคซีนเข็ม 3 คือ “ไฟเซอร์” เพราะซิโนแวค 2 เข็ม เอาเดลตาไม่อยู่ แตที่สุดกลายเป็นว่าจะได้ “แอสตราฯ” แทนแล้ว
ท่ามกลางข้อมูลที่หลากหลาย มากมาย เอาแน่นอนไม่ได้ เปลี่ยนไปมา เพราะเกรงว่าจะไม่ได้อยู่บนพื้นที่สื่อหรืออย่างไรก็ตามแต่ ข้างต้นเป็นตัวอย่างสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า “ข้อมูล” / “การให้ข้อมูล” เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในช่วงสถานการณ์ที่เปราะบางหรือหัวเลี้ยวหัวต่อท่ามกลางภาวะวิกฤติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเกี่ยวกับ โควิด-19 นี้ กล่าวได้ว่า “ระเบิดท่วมท้น” ข้อมูลมีการเคลื่อนไหว อัพเดต และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วกว่าที่เคยเกิดขึ้นบนโลกกลม ๆ นี้มาก่อนในทุก ๆ เหลี่ยม ทุก ๆ มุมทั้งในระดับโลก ภูมิภาค ประเทศ และประชาชนดังนั้น การติดตามข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัย ทันเวลา และเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง แล้วนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจบนความไม่แน่นอนสูงโดยคำนึงถึงบริบทจริง ๆ ของตนเองประกอบด้วยอาจจะช่วยลดความเสี่ยง ความผิดพลาด ความสูญเสีย และป้องกันมิให้สถานการณ์ของปัญหาบานปลายและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ผู้นำและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการภาวะวิกฤติต้องคาดการณ์ถึงสภาวะที่เลวร้ายที่สุดเหนือกว่าที่สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนั้นด้วย แม้ว่าสถานการณ์จะหนักหน่วงอยู่แล้วก็ตาม และต้องพร้อมทุกเมื่อที่จะเรียนรู้และนำเอาชุดข้อมูลที่เป็นกรณีศึกษาใกล้เคียงกันของประเทศหรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่เคยประสบมาก่อนมาศึกษา ปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสม ซึ่งต้องอาศัยพลังสมองของทีมงานที่มีคุณภาพและศักยภาพร่วมกันตรวจสอบ กลั่นกรอง และต่อยอดข้อมูลที่มีให้มีคุณภาพขึ้น เช่นนี้แล้วการจัดการภาวะวิกฤตย่อมห่างไกลกับคำว่า “ล้มเหลว” เป็นแน่แท้
ผมว่าถึงเวลาแล้วล่ะครับ...ที่เมืองไทยเราจะต้องมีการจัดทำ ‘Big data’ บริหารจัดการข้อมูลสาธารณสุขย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรมเพื่อรองรับและรับมือกับวิกฤติสาธารณสุขของวันนี้และพรุ่งนี้
เชื่อมข้อมูล...วิเคราะห์ข้อมูล...และสังเคราะห์ข้อมูลทุกมิติเข้าด้วยกัน....โดยเฉพาะข้อมูลการวิจัยที่น่าเชื่อถือ...ให้เป็นชุดข้อมูลที่ ‘เหนือคุณภาพ” และ ‘มากกว่ามูลค่าเพิ่ม’ ตลอดจนหยุดเถอะครับ
พอเถอะครับ กับข้อมูลเท็จ ข่าวมั่ว ข่าวลวง ข่าวปลอม หรือข่าวไม่เป็นข่าว ที่หวังกระแสการเมือง และนำไปสู่ความเข้าใจผิด ๆ เพราะนี่คือ วิกฤติชีวิตคนไทย อย่าเอามาล้อเล่นกันนะครับ !!!