น่าสนใจกระบวนท่าลดแรงเสียดทานทางสังคม ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมรัฐมนตรีทั้งหมดที่ประกาศไม่รับเงินเดือนและผลประโยชน์อื่นๆ เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้รอดพ้นจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19
สะท้อนถึงความตระหนักต่อสถานการณ์ที่อ่อนไหวและเปราะบางอย่างยิ่งของรัฐบาล หลังศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 ประกาศยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 สำหรับ 10 จังหวัดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปัตตานี นราธิวาส ยะลา สงขลา โดยจำกัดการเคลื่อนย้ายและการรวมกลุ่มของบุคคลขั้นสูงสุด รวมถึงกำหนดเวลาการออกนอกเคหะสถาน
ท่ามกลางกระแสความไม่พอใจในโลกออนไลน์ที่ขยายวงกว้างขึ้น คู่ขนานไปกับความเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชนที่ต่อต้านรัฐบาล และกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม ขณะที่กลุ่มการเมืองอีกขั้วค่ายก็ชิงเสนอตัวเลือกผู้นำที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อเปรียบเทียบด้อยค่านายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ที่ประกาศตนเป็นผู้บัญชาการสงครามโควิด
กระนั้น ในสถานการณ์กบเลือกนาย แม้ยังไม่มีความเป็นไปได้ในทางทฤษฎีการเมืองตามครรลองประชาธิปไตย แม้หมุดหมายของพรรคฝ่ายค้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่วางคิวไว้ในห้วงของเดือนกันยายน เป็นช่วงเวลาที่คาดว่ากระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 จะเสร็จสิ้น โดยหวังเร่งการตัดสินใจของพรรคร่วมรัฐบาลที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เพื่อหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ชิงทำลายจังหวะโรดแมปเปิดประเทศภายใน 120 วันที่นายกรัฐมนตรีประกาศไว้
แต่หาก 14 วันเดิมพันล็อกดาวน์โควิด สัมฤทธิ์ผล ก็จะช่วยผ่อนคลายสถานการณ์วิกฤติโควิด และวิกฤติศรัทธาของรัฐบาลลงได้บ้าง โดยมีปัจจัยเรื่องตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นตัวชี้วัด และมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่เหมาะสม
ในทางตรงกันข้าม หาก 14 วันยังหยุดเชื้อไม่ได และต้องขยายเพิ่มระยะเวลาล็อกดาวน์ออกไปอีกเป็น 1 เดือน โดยไม่ได้ประกาศให้คลุมไว้แต่ต้น สถานการณ์ก็จะตีกลับเพิ่มแรงเสียทานต่อรัฐบาลมากขึ้น แต่จะมากพอที่จะทำให้สถานการณ์สุกงอมถึงขึ้นเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ยังขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย
ทั้งนี้ทั้งนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องมองข้ามช็อต และปรับยุทธศาสตร์ที่ถูกวิจารณ์ว่าเน้นตั้งรับแบบราชการ ให้เป็นเชิงรุก ก่อนที่กระแสความไม่พอใจต่างๆจะถูกขับเคลื่อนจนกลายเป็นสินามิถล่มรัฐบาล