เมื่อยืนอยู่ในสถานะ "รัฐบาล" ทำหน้าที่ฝ่ายบริหารบ้านเมืองแล้ว โอกาสที่จะต้องแบกรับ "แรงกดดัน" จากทั่วสารทิศจึงกลายเป็นวาระที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง !
ภายหลังการประกาศล็อคดาวน์ 10 จังหวัดในพื้นที่สีแดงเข้ม ของศบค.โดยให้มีผลบังคับใช้มาตรการต่างๆ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 ก.ค.64 ที่ผ่านมายังคงถูกจับตาอย่างต่อเนื่องว่า ในห้วงเวลาจากนี้ไปจนครบ2สัปดาห์ไปแล้ว "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะ ผู้อำนวยการศบค. จะสามารถ ปลดล็อคอุปสรรค ต่างๆที่ทำให้กลายเป็นปมปัญหาในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย อย่างได้ผลหรือไม่ ?
ทั้งปัญหาการกระจายวัคซีนระดมฉีดให้กับประชาชน เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มหมู่คือโจทย์ใหญ่ ที่รัฐบาล และทุกๆฝ่ายต้องทำงานแข่งกับเวลา เพราะวัคซีนคืออาวุธชั้นดีที่จะรับมือกับไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเวลานี้พบว่ามีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ทั้งเดลต้า( อินเดีย )ที่มีอัตราการแพร่เชื้อสูง มีความรุนแรง สายพันธุ์เบตา(แอฟริกาใต้) และสายพันธุ์อัลฟา(อังกฤษ)
ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ออกมาให้ข้อมูลว่า มูลในสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า กรุงเทพมหานคร พบสายพันธุ์เดลตา เพิ่มเป็น 57 เปอร์เซ็นต์ ส่วนในต่างจังหวัด พบ 23 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ภาพรวมทั้งประเทศ พบการระบาดของสายพันธุ์เดลตา 46 เปอร์เซ็นต์ หรือเกือบจะครึ่งหนึ่งแล้ว ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับแนวทางฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้สอดคล้องกับการกลายพันธุ์
นอกจากนี้นพ.ศุภกิจ ยังเปิดเผยผลจากการตรวจสายพันธุ์โควิด-19 ที่น่าสนใจว่า จากการตรวจค้นหาเชิงรุกผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในแคมป์คนงานก่อสร้างขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง พบเชื้อโควิดทีเดียว 2 สายพันธุ์ (Suspected Mix infection) ต่อผู้ติดเชื้อ 1 ราย คือ สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) และสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) โดยพบทั้งสิ้น 7 ราย หากปล่อยให้มีการติดเชื้อผสมสายพันธุ์ต่อไปก็จะเกิดไวรัสลูกผสม เป็นไวรัสตัวใหม่ขึ้นมา ซึ่งแน่นอนว่าจะยิ่งทำให้ "ระบบการแพทย์" ของไทยทำงานหนักมากขึ้น
เวลานี้ ความขัดแย้ง เสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อการบริหารจัดการของรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ดูเหมือนว่าจะออกมาในทิศทางที่เป็นลบ อย่างต่อเนื่อง จนกองเชียร์รัฐบาลบางส่วนเอง ยังต้องออกมาเสนอแนะให้ทั้ง ฝ่ายพล.อ.ประยุทธ์ ไปจนถึง "อนุทิน ชาญวีรกูล" รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข ที่รับศึกหนักไม่แพ้กัน ต้องเร่งหาทาง "ปรับกลุยทธ์" การแถลงชี้แจงข้อมูลข่าวสาร ทั้งการเมืองและการแพทย์ให้ทันท่วงที รับมือกับทั้งเฟคนิวส์ไปจนถึงกระแสโจมตีโดยด่วน
แต่อย่างไรก็ดี ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ และมีความชัดเจนว่าการโยนประเด็นที่ว่าด้วย "รัฐล้มเหลว" เพื่อชำแหละให้เห็นว่ารัฐบาลนั้นไม่ควรได้รับโอกาส "อยู่ต่อ" เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น พอๆกับการรุกไล่ เพื่อขับไล่ให้พล.อ.ประยุทธ์ ลุกออกจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ไปพร้อมๆกับการโจมตีว่าเป็น รัฐบาลฆาตรกร ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ต้องเสียชีวิตจากการทำงานที่ผิดพลาด ล้มเหลว นับครั้งไม่ถ้วน
การจุดพลุว่าด้วย รัฐล้มเหลว นั้นเคยเกิดขึ้นและดังกระหึ่มมาแล้วในสมัยรัฐบาลของ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ในปี2557 ที่ถูกฝ่ายตรงข้ามดาหน้าถล่มโดยเฉพาะปมประเด็นว่าด้วยปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในโครงการรับจำนำข้าว อย่างหนัก ก่อนที่จะรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จะถูกปิดฉากลงด้วยการยึดอำนาจต่อมา
ข้อหาที่ว่าด้วยการเป็น "รัฐล้มเหลว" นั้นหนักหนาและรุนแรง ไม่น้อยสำหรับใครก็ตามที่นั่งบริหารประเทศ แต่ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าสำหรับรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ แล้วอาจจะฝ่าคลื่นลม ฝ่าข้อหารัฐล้มเหลวไปได้ในที่สุด แม้จะทุลักทุเล บ้างก็ตาม เพราะในสมัยยิ่งลักษณ์ "เสาค้ำยันอำนาจ" อย่างกองทัพไม่ได้แข็งแกร่ง เท่ากับ บิ๊กตู่ นั่นเอง !