ชัยวัฒน์ สุรวิชัย ความคิดเห็นของ พิภพ ธงไชย ประชา หุตานุวัตร ประสาร มฤคพิทักษ์ ……. หนึ่ง. พิภพ ธงไชย FB : Pibhop Dhongchai 20/10/60 เขียนตอนบ่ายๆ ที่บ้านกรุงเทพฯ วัฒนธรรมคนไทยที่หล่อเลี้ยงระบบ กับการคิดสร้างวัฒนธรรมใหม่ 1. เมื่อหลายวันก่อน ได้กินข้าวพูดคุยกับเพื่อนๆที่ร่วมก๊วนคุ้นเคยกันมานาน เพื่อนเหล่านี้ล้วนเป็นคนดีที่ไม่เคยนิ่งเฉยต่อการเปลี่ยนแปลงสังคม บางคนเป็นข้าราชการ บางคนเป็นนักธุรกิจ บางคนเป็นสื่อมวลชน บางคนเป็นอาจารย์ บางคนเป็นหมอ บางคนเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสังคม บางคนเป็นนักการเมือง ซึ่งล้วนทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด เมื่อมีโอกาสถูกเชิญชวนให้เข้าไปทำงานในตำแหน่งต่างๆ กรรมการชุดต่างๆ หรือตำแหน่งรัฐมนตรี ตำแหน่งการเมือง ไม่ว่าจะอยู่ในระบบการเมืองแบบไหน ต่างเข้าไปรับตำแหน่งนั้นๆ ด้วยเหตุผลว่า “จะเข้าไปเพื่อทำสิ่งที่ดี” 2. ผมเกิดอารมณ์แบบไหนก็หารู้ได้ โยนประเด็นคำถามเข้าไปในวงสนทนาว่า สิ่งที่เราทำอยู่นั้น มันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นจริงหรือ ทำให้ลดจำนวนคนยากไร้ไปได้มากแค่ไหน ทำให้ลดความเหลื่อมล้ำ ลดความ(ไม่)เท่าเทียม ตามที่เราชูธงกันเสมอมา ให้ลดน้อยลง และที่สุด”ความเป็นธรรมของสังคม” ดีขึ้นไหม ๕๐ ปีในช่วงอายุของการเคลื่อนไหวในสมัยของพวกเรา เราก็วนเวียนอยู่กับบทบาทแบบนี้มาตลอด จากนักศึกษาวัยหนุ่มสาว จนโตเป็นผู้ใหญ่สูงวัยในวันนี้ 3. นี่จะถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ของนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีประสิทธิภาพได้ไหม และการกำหนดยุทธวิธี หรือบทบาทของแต่ละคนดังกล่าว มันเพื่อสนองตัณหาของตัวเอง โดยอ้างว่าการเข้าไปทำงานนั้น จะช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้น ผมย้อนกลับคำถามไปว่า การทำเช่นนี้ใช่หรือไม่ที่ทำให้ระบบที่เลวร้ายมันเดินอยู่ได้ในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นระบบเผด็จการทหาร ระบบการเมืองประชาธิปไตยที่ฉ้อฉน ระบบคอรัปชั่น หรือระบบราชการ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวถ่วงการเปลี่ยนแปลง สลับไปสลับมา ตั้งแต่ยุค ๒๔๗๕ และเมื่อมองไปที่ผู้หลักผู้ใหญ่ที่พวกเราเคารพนับถือ ก็ล้วนสนับสนุนให้เราเข้าไปทำการเช่นนั้น 4. ถึงเวลาหรือยังที่พวก “คิดดี หวังดี” ที่เชื่อว่าตัวเองฉลาดหลักแหลม และเป็นคนดี อย่างพวกเรา จะกลับมาคิดทบทวนบทบาทของตัวเองกันใหม่ เพื่อกำหนดเยุทธศาตร์ต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมใหม่ โดยมุ่งหา”กุญแจ”ดอกใหม่ และจินตนาการใหม่ เพื่อใช้ไขประตูไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมใหม่ เหมือนวงการวิทยาศาตร์ วงการแพทย์ วงการเศรษฐกิจ วงการวรรณกรรม วงการทหาร วงการเทคโนโลยี หรือหลายวงการ ในประวัติศาสตร์ 5. เมื่อเราย้อนกลับไปดู”ประวัติศาสตร์ขยาย” จะพบตัวอย่างหลากหลายในหลายประเทศในโลกใบนี้ ที่คิดว่าจะต้องไม่ให้ประเทศของตนกลับไปสู่สภาวะเลวร้ายเช่นในอดีต นักคิด ปัญญาชน นักวิทยาศาสตร์ นักการศาสนา หรือนักอะไรต่อมิอะไร ต่างทุ่มสุดตัว เพื่อค้นหา”กุญแจ”ดอกนั้น เพื่อนำมาใช้ไขสู่สังคมใหม่ พวกเราในวัยเดียวกัน ทำเรื่องราวในสังคมต่างๆมามากมาย สังคมไทยก็มีอาการกลับไปกลับมา ระหว่างความเลวกับความดี ระหว่างความถูกกับความผิด 6. เรามาระดมหาบทบาทใหม่ของเรากันดีกว่าไหม เพื่อให้สังคมก้าวเดินไปข้างหน้า ไม่เป็น”สังคมกลับไปกลับมา” ที่ทำให้เราไม่เหนื่อยเปล่า หรือที่ภาษาตลาดใช้คำว่า “เตะหมูเข้าปากหมา” อยู่ร่ำไป นี่คือโจทย์ที่ผมโยนเข้าไปในวงสนทนา ที่ขอมาขยายประเด็นเพื่อโยนโจทย์นี้เข้าสู่โลกของสังคม Socian media ให้ช่วยกันคิด ให้กว้างขวางออกไป 7. ตัวผมเองนั้นขอทำโจทย์เรื่องการศึกษา เรื่องการพัฒนามนุษย์ และเรื่องการเมืองภาคประชาชน ต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยจะหา”กุญแจ”ดอกนั้นให้เจอ และหวังว่าจะเจอไม่เกิน ๘ ปีข้างหน้านี้ สอง. ไมตรีวิวาทะเรื่อง”คนดีเข้าค้ำจุนอำนาจรัฐ ควรแสวงหากุญแจดอกใหม่” ประสาร ม. ( 1 พย. 60 ) มุมมองเริ่อง"คนดีเข้าค้ำจุนอำนาจรัฐ ควรแสวงหากุญแจดอกใหม่"ของ อ.พิภพ ธงไชย เป็นคำถามที่ท้าทายคนเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองอย่างมีนัยยะ ขอร่วมไมตรีวิวาทะนี้ด้วยคน 1. ใช่หรือไม่ว่าแต่ละคนมีทางเลือกหรือจำต้องรับทางเลือกที่ไปด้วยกันได้กับจริตหรือความสันทัดของตนเอง - อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ยอมรับการแต่งตั้งของเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็น ผวก.ธนาคารชาติ ได้ทำหน้าที่ อย่างมีศักดิ์ศรี อิสระ เป็นตัวของตัวเอง วางรากฐานด้านการเงินการคลังไว้เป็นหลักบ้านหลักเมืองมาจนบัดนี้ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์และเพื่อนหมอนำเสนอหลักประกันสุขภาพจนทักษิณ ชินวัตร นายกฯเอาด้วย แล้วระดมกลไกรัฐมาสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแบบพลิกโฉมวงการสาธารณสุขอย่างมีคุณูปการยิ่ง ต่อประชาชนทั้งแผ่นดิน แม้ว่าระบอบทักษิณจะฉกฉวยไปเป็นผลงานตัวเองก็ตาม แต่ประชาชนทั้งประเทศได้รับประโยชน์ทางตรงที่สัมผัสได้จริง แม้อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์และคุณอานันท์ ปันยารชุนก็รับตำแหน่งนายกฯจากสถานการณ์พิเศษ และทำหน้าที่ได้อย่างสง่างาม เรามี อ.ประเวศ วะสีที่อาจเป็นตัวอย่างได้ในการแสวงทางเลือกใหม่โดยจัดตั้งกลุ่มสามพรานขึ้นมา เป็นพลังขับเคลื่อนด้านสาธารณสุขได้กว้างขวาง แต่ในขั้นปฏิบัติจริง(Implementation)ก็ยังต้องอาศัยกลไกรัฐเพราะกำลังภาคประชาสังคมเพียงลำพัง ไม่สามารถทำให้เกิดผลเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ที่เป็นจริงได้ 2.ความพยายามเปลี่ยนสังคมมีมาตลอด แม้แต่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็พยายามเสนอกุญแจดอกใหม่และล้มเหลวไปแล้ว เราอาจให้เครดิตการเปลี่ยนแปลงที่ควรเป็นความหวังได้จากคณะกรรมการปฏิรูป(ชุดคุณอานันท์ ปันยารชุน)และสมัชชาปฏิรูป(ชุดอาจารย์ประเวศ วะสี)ซึ่งชี้ประเด็นใจกลางปัญหาได้ชัดว่า "ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน"แต่ก็ขาดพลังขับเคลื่อนที่เป็นจริงในเมื่อไม่มีรัฐบาลไหนไยดีเอาเสียเลย 3.ประเด็นคนดีค้ำจุนรัฐจากการเลือกตั้งจะชอบธรรมมากกว่ารัฐที่มาจากทางอื่น ตามที่ “ ประชา หุตานุวัตร “ เสนอนั้น ขอแสดงความเห็นว่า ตราบใดที่การเลือกตั้งไทยยังไปไม่พ้นจากเงิน ระบบอุปถัมภ์และอิทธิพลแฝงฝัง ของประชานิยมล้นเกิน ก็ต้องตั้งคำถามว่าอะไรควรเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ในขณะที่ฉันทานุมัติการเลือกตั้งจากคนอเมริกันได้คนบ้าๆบวมๆอย่างทรัมป์ แต่คอมมิวนิสต์จีนได้สีจิ้นเผิงที่ดูมีสง่าราศรีมากกว่า สีจิ้นเผิงเพิ่งพูดไม่กี่วันมานี้ว่า" ถึงเวลาแล้วที่จะต้องทบทวนข้อบกพร่องของประชาธิปไตยที่ซวนเซ และเป็นตัวเร่งให้เกิดข้อบกพร่องมากมายบนโลกนี้แต่แก้ไขปัญหาต่างๆได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น" ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้แปลว่าผู้เขียนเห็นด้วยกับระบอบเผด็จการ 4.ผู้นำทางความคิดของไทยล้วนพึงใจในพื้นที่อิสระของตนเองและชอบออกแรงทางปัญญามากกว่า จะลงมือทำให้เกิดผลที่เป็นจริงแถมยังมองไม่เห็นว่าจะมีโอกาสร่วมกันคิดและร่วมกันทำที่เป็นเอกภาพกันได้ 5. เมื่ออายุย่างเข้าหลักเจ็ด ผู้เขียนโพสต์ไปแล้วในสื่อออนไลน์ว่า เราทำอะไรได้บนเงื่อนไขที่ความคิดและการกระทำของเรา(อัตวิสัย)สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง(ภววิสัย)เท่านั้น ด้วยเหตุนี้กระมังที่ทำให้ผู้เขียนเชื่อว่า ทุกคนต่างมีวิถีทางเดินที่แตกต่างกันไปตามจริตและความถนัดของตนเอง/ ปู่จิ๊บ นำความคิดเป็นๆอย่างเป็นรูปธรรมของความคิดของเพื่อนสนิทมิตรสหาย มาเผยแพร่ต่อ 1. เพื่อหวังว่า “ จะได้มีการระดมความคิดเห็น ด้วยความรู้สติปัญญา บนสภาพของสังคมไทยที่เป็นจริง “ ในการแก้ไขวิกฤตของสังคมไทย เพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง ที่ “เป็น-โดย-เพื่อ ประชาชน” อย่างแท้จริง คือ ประชาชน ( มิใช่เพียงผู้นำรัฐและประชาสังคม ) ต้องมีส่วนคิดทำและได้รับดอกผลโดยตรง ที่นำเสนอมายังเป็นความคิดลักษณะปัจเจกชน แม้ว่า “ จะมองจากสภาพความเป็นจริง” แต่จะแก้วิกฤตไม่ได้ 2. ต้องสรุปบทเรียนว่า “ ความคิด-การกระทำของผู้นำการเมือง-ทหาร-กลุ่มทุน-นักวิชาการ-ภาคประชาชน ” มีแนวทาง ยุทธศาสตร์ยุทธวิธี จังหวะก้าว ขั้นตอน อย่างไร , จุดแข็งจุดอ่อน ฯ แล้วทำไม่ไม่บรรลุเป้าหมาย ข้อน่าสังเกตใหญ่ คือ สังคมไทยไม่มีการสรุปบทเรียนของเหตุการณ์ประชาธิปไตย จึงไม่รู้ปัญหาที่แท้จริง และ ผู้นำบางส่วนมิใช้วิธีการประชาธิปไตย มิได้เอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก 3. ข้ออ่อนและข้อจำกัด คือ การใช้กรอบคิดนามธรรม ที่นำเข้ามาจากตะวันตก หรือ อคติอวิชา ฯลฯ แล้วนำมาครอบหัวตัวเอง โดยมิได้มีการประยุกต์ใช้ และการปรับเพิ่มเติม ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมไทย วันนี้ เราคิดว่า “ มีใคร ที่ได้นำเสนอแนวทางหลักอย่างเป็นรูปธรรม ที่พอจะมีความหวังที่เป็นจริงได้บ้างไหม” 4. กองทัพนักการเมือง กลุ่มทุน ผู้นำสังคม-ประชาชน จะฝ่าฟันก้าวข้ามข้อจำกัดของตนเองได้ไหม อย่างไร 5. ผู้นำสังคมทุกฝ่าย ยังมีลักษณะเดี่ยว ขาดการรวมตัวเป็นเอกภาพ จึงไม่มีพลังเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง 6. การลุกขึ้นมานำเสนอ หรือต่อสู้ เป็นไปตามกระแสของเหตุการณ์ จึงมีลักษณะ สู้-หยุด – สู้ ไม่ต่อเนื่อง 7. เนื่องจากไม่มีแนวทางที่ถูกต้อง และสามารถอยู่ได้ โดยไม่เดือดร้อน จึงไม่ได้สู้ถึงที่สุด ฯลฯ 8. หัวใจสำคัญการเปลี่ยนแปลง คือ ปฏิรูปโครงสร้างระบบสังคมไทย ทั้งการเมือง เศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรม กระบวนการยุติธรรม และ การสร้างยกระดับคุณภาพคน ให้มีปริมาณและคุณภาพมากพอที่จะเปลี่ยนแปลง ขอให้ช่วยกันคิด รวมกันคิด สร้างความเป็นเอกภาพทางความคิด แล้วจะเกิดปัญญา ได้ทางออกจริ