แสงไทย เค้าภูไทย รัฐบาลส่อเค้าจะปรับใหญ่ ครม.หวังให้บรรยากาศการเมืองและเศรษฐกิจดีขึ้น แต่นักวิชาการชี้ ไม่ช่วยให้ดีขึ้นเมืองไทยจะเปลี่ยนแปลงหลังเลือกตั้งตอนนั้น โฉมหน้าประเทศจะเปลี่ยนแปลงเหมือนกับที่อดีตประธานาธิบดีโอบามา ใช้คำว่า CHANGE เป็นคำขวัญรณรงค์เลือกตั้ง ความเปลี่ยนแปลงในความหมายของอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามาแห่งสหรัฐอเมริกาในครั้งนั้น หมายถึงการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีที่ไม่เหมือนเดิม แสดงว่ายุคสมัยก่อนหน้านั้นสหรัฐฯมีสิ่งที่ไม่ดีอยู่มาก โอบามาเข้ามาแล้วเปลี่ยนแปลงอะไรต่อมิอะไรมากมาย แต่คนอเมริกันเห็นไม่ชัดเจน คิดว่าควรจะต้องเปลี่ยนแปลงให้มากกว่านี้ จึงเลือกเขากลับมาอีกครั้ง แต่คนอเมริกันก็ยังคงไม่เห็นCHANGE ที่โอบามาทำลงไปเหมือนเดิม จนกระทั่งมาถึงยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ความเปลี่ยนแปลงในยุคโอบามาเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับผลงานตามนโยบายของทรัมป์ ต่างกันชัดเจนโดยเฉพาะด้านสุขภาพแห่งชาติ "โอบามาแคร์" เมืองไทยในวันนี้ก็เช่นกัน คนไทยอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่านี้ มากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะ 3 ปีของรัฐบาลทหาร ยังมองไม่เห็นอะไรที่เป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีมากนัก โดยเฉพาะด้านกฎหมายและมาตรการรัฐ ออกมาแต่ละฉบับ แต่ละเรื่อง ล้วนเจอแรงต้านจากประชาชน ขณะที่ความขัดแย้งที่ใช้เป็นเหตุผลในการเข้ายึดอำนาจการปกครองก็ไม่สามารถขจัดลงได้ เห็นได้จากการที่ คชส.ไม่ยอมปลดล็อกพรรคการเมือง ให้สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้ ซึ่งข้ออ้างของนายกรัฐมนตรีในการนี้ก็คือ เกรงว่าจะเกิดความวุ่นวายขึ้นมาอีก อันที่จริงการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองซึ่งตอนนี้ทุกพรรคหมดสภาพไปแล้วหลังการทำรัฐประหารและมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้วนั้น น่าจะทำได้ในลักษณะกิจกรรมสาธารณประโยชน์ ไปช่วยน้ำท่วม ไปพบปะประชาชนดูแลสารทุกข์สุกดิบกันตามประสาคนเคยมีความสัมพันธ์ ผูกพันกัน โดยไม่จำเป็นต้องเอาชื่อพรรคไปปรากฏต่อสาธารณชนเหมือนกับที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ "ลักไก่" สวมรอยชวนประชาชนไปร่วมงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 แต่ที่แกนนำพรรคเพื่อไทยต้องการให้ปลดล็อกข้อห้ามทำกิจกรรมนั้น ส่วนหนึ่งเพราะต้องการสำรวจตรวจแถวลูกพรรคทุกระดับ โดยเฉพาะ การสรรหาผู้นำคนใหม่ แม้จะมองว่าคุณหญิงสุดารัตน์ เป็นคนที่ผู้มีอำนาจสูงสุดของพรรคเลือก แต่ความเคลื่อนไหวแบบไม่มีจังหวะจะโคนไม่มีการศึกษาคาดการณ์ผลที่ตามมาใน แง่ลบ ก็ทำให้น้ำหนักในความเป็นผู้นำด้อยลงแถวที่หนึ่งหมดสภาพไปแล้ว แถวที่สองหรือสามควรจะขึ้นมาแทน ไม่ใช่ดันทุรังจะเอาคนที่หมายตาเอาไว้เป็นผู้นำต่อ การเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึง ที่เชื่อกันว่า จะเกิดขึ้นภายในปีหน้านั้น พรรคการเมืองใหญ่สองพรรคคือประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยมองกันว่า พรรคอะไหล่สายทหารจะมีบทบาทสำคัญ จึงเกิดการโยนหินถามทางมาจากทั้งสองพรรคว่า มีแนวโน้มจะจับมือกันตั้งพรรครัฐบาล ผลการเลือกตั้งคาดการณ์กันจากการสำรวจหัวคะแนนและจากปฏิกิริยาที่เป็นความขัดแย้งกันไม่ลดลง พบว่าทั้งสองพรรคยังเหนียวแน่นไม่เปลี่ยนแปลง และผลจะเป็นไปเหมือนการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว การที่สองพรรคใหญ่จะจับมือกันจัดตั้งรัฐบาลได้นั้น พรรคเพื่อไทยจะต้องเสียสละ ยอมให้ ปชป.เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลก่อนตัวเองเป็นพรรคร่วม การเมืองสหรัฐฯ นั้น ถ้าถึงทางตันหรือเกิดวิกฤติขึ้นมา สองพรรคใหญ่ร่วมมือกันแก้ปัญหาผ่าทางตันเพื่อชาติที่เรียกว่า Bi-partisan ปรากฏการณ์นี้อาจเกิดขึ้นได้ในปีหน้า และจะเป็น CHANGE ที่จะเปลี่ยนโฉมวัฒนธรรมการเมืองไทยครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป.อาจจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมดังคำทำนายของหมอดูอีทีชาวพม่าที่เพิ่งล่วงลับไปเมื่อเร็วๆ นี้ทำนายเอาไว้ แต่ถ้า พท.ดึงดันจะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว ก็ย่อมจะเข้าทางของ คสช.เพราะความเป็นไปได้ที่จะได้คะแนนเสียงเด็ดขาด 350 เสียงนั้นไม่มี เมื่อได้เสียงไม่ถึง วุฒิสมาชิกที่ คสช.ตั้งไว้ ก็จะมีบทบาทร่วมกับพรรคอันดับสามอันดับสี่ เปิดทางให้ คสช.กลับมาอีกหากพรรคการเมืองร่วมมือกันขจัดพรรคทหารได้เช่นนี้ ในอนาคตการทำรัฐประหารโดยใช้เหตุผลว่าเกิดความขัดแย้งแตกแยกจนบ้านเมืองวุ่นวาย จนอาจนำไปสู่สงครามกลางเมืองอย่างที่แล้วๆ มาก็จะไม่เกิดขึ้นอีก เพราะทหารไม่ใช่นักบริหาร เข้ามาแล้วก็ไม่สามารถผลักดันให้ประเทศเดินหน้าได้สมศักยภาพที่มีอยู่ วันนี้อาจจะมีข่าวดีเรื่องแบงก์โลกเลื่อนอันดับให้เป็นประเทศที่มีการทำธุรกิจ กิจการได้สะดวกสูงขึ้นหลายอันดับ แต่หากดูตารางอันดับแล้ว เรายังอยู่หลังมาเลเซียซึ่งเคยอยู่หลังเรา ในด้านเศรษฐกิจหลายสาขา แต่ข่าวนี้ ก็ถือว่าเป็นหยดน้ำหยดน้อยพอชโลมใจได้บ้างในยามนี้ แม้ขณะนี้มีแนวโน้มว่า จะมีการปรับ ครม.ครั้งใหญ่เนื่องในโอกาส รมว.แรงงานยกทีมลาออกทั้งชุด มีเสียงเรียกร้องให้ปรับ ครม.สายเศรษฐกิจ เหตุจากผลงานไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน ทำให้เป็นจุดอ่อนที่สุดของรัฐบาล แต่หากมองย้อนกลับไปที่ตัวรัฐบาลเอง จุดอ่อนของรัฐบาลที่สุดคือการเป็นรัฐบาลรัฐประหาร เราอาจจะมองว่า นายกฯไปเยือนสหรัฐฯ มาแล้ว เชื่อมสัมพันธ์อันดีเป็นที่น่าชื่นชม แต่มองในมุมกลับ ทำไมเราต้องเป็นฝ่ายไปเยือน ทำไมทรัมป์ไม่มาเยือนเราเหมือนกับที่กำลังจะมาเยือนชาติเอเชียและอาเชียนอื่นๆ รวมถึงการเข้าร่วมประชุมอาเซียนซัมมิตด้วย ? เศรษฐกิจของเราเป็นเศรษฐกิจระบบเปิด จะดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจโลก แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ ระบบการเมืองภายในประเทศ ที่แบงก์โลกเคยวิเคราะห์เอาไว้ ตอนนี้เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว เราก็ฟื้นตาม ไม่จำเป็นต้องใช้มือบริหารระดับซูเปอร์สตาร์มาแทนที่ชุดเดิม ทู่ซี้อยู่กันมาได้ตั้งสามปี จะอยู่อีกปีก็คงจะไม่แตกต่างอะไรไปมากนัก