เสรี พงศ์พิศ
www.phongphit.com
เรื่องใหญ่สุดของโลกวันนี้ คือ อาหาร น้ำ และพลังงาน เป็นมรดก พลังแผ่นดินและพลังทางปัญญาสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงมอบไว้ให้เรา
โครงการพระราชดำริเกือบ 5,000 โครงการ มากกว่าครึ่งหนึ่งเกี่ยวกับน้ำโดยตรง โครงการทั้งหมดทั้งที่เกี่ยวกับดิน น้ำ พลังงาน ก็ล้วนแต่เพื้อสร้างความมั่นคงด้านอาหารและการดำรงชีพอย่างพอเพียง สร้างปัจจัยพื้นฐานเพื่อการพึ่งตนเองและอยู่อย่างมีความสุข
ปัญหาใหญ่สุด คือ ปัญหาน้ำ ซึ่งท่วมในหน้าฝน แห้งในหน้าแล้ง ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีฝนตกเฉลี่ยปีละ 1,570 มิลลิเมตร (ขณะที่ประเทศอิสราแอลฝนตกปีละ 500 มิลลิเมตรแต่สามารถส่งออกน้ำจืดไปขายประเทศเพื่อนบ้านได้ เปลี่ยนทะเลทรายให้เป็นป่า เป็นสวน เป็นไร่นา ที่อยู่อาศัยทีร่มเย็นได้)
พระปรีชาญาณของพระองค์ท่านเกี่ยวกับน้ำมีมากล้นและน่าพิศวงอย่างยิ่ง ทรงศึกษาไม่เพียงแต่แผนที่อย่างละเอียด แต่ทรงลงพื้นที่ไปสำรวจสภาพภูมิศาสตร์และภูมิสังคม และทรงแนะนำให้หาทางออกที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าเขื่อน แก้มลิง ฝาย อ่างเก็บน้ำ สระน้ำ ปรับทางน้ำไปจนถึงการสร้างฝนเทียมและกังหันน้ำชัยพัฒนาเพื่อให้ได้น้ำสะอาด
นอกจากการแก้ปัญหาน้ำในระดับใหญ่แบบบูรณาการ พระองค์ท่านทรงพัฒนาเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นรูปธรรมสำหรับครัวเรือนว่าจะจัดการดิน น้ำ เพื่อให้ได้อาหารและปัจจัยเพื่อการดำรงชีพ
พระองค์ไม่ได้ทรงทำนาแปลงใหญ่ ทรงสนพระทัยพัฒนานาแปลงเล็กในที่แปลงเล็กให้ชาวบ้านมีพออยู่พอกินเป็นอันดับแรก ดังที่ทรงสอนไว้เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2517 ว่า
“การพัฒนาประเทศนั้นจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพอสมควรและปฏิบัติได้แล้วจึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจชั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป”
“หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียวโดยไม่ให้แผนปฏิบัติการที่สัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่างๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวไปในที่สุด”
มูลนิธิชัยพัฒนาส่งเสริมการจัดการทรัพยากรโดยเฉพาะการจัดการน้ำในชุมชน และมอบรางวัลชุมชนดีเด่นในเรื่องนี้ทุกปี อย่างกรณีบ้านลิ่มทอง ต.หนองโบสถ์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ จากเดิมประสบปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งซ้ำซากมากว่า 40 ปี พื้นที่การเกษตรกว่า 3,700 ไร่ ไม่มีแหล่งน้ำ คลองส่งน้ำ ยามน้ำหลากก็ท่วมถนนในหมู่บ้าน ยามแล้งไม่มีน้ำใช้สอย ส่งผลชาวบ้านเดือดร้อนเป็นอย่างมาก
แกนนำชาวบ้านจึงนำเรื่องนี้เข้าเวทีประชาคมหมู่บ้าน ช่วยกันวางแผนแก้ปัญหา เอาน้ำท่วมมาเก็บกักเป็นน้ำใช้ ด้วยเริ่มจากหาข้อมูลแหล่งน้ำเดิม สำรวจแหล่งน้ำและเส้นทางน้ำหลาก โดยใช้แผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม เครื่องระบุพิกัด GPS โดยได้รับความเอื้อเฟื้อจากมูลนิธิอุทกศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์กรมหาชน) ปี 2549 จึงเริ่มขุดลอกคลองขนานกับถนนขุดคลองขวางดักน้ำหลากพร้อมกับขุดแก้มลิงในพื้นที่สาธารณประโยชน์ และชักชวนให้ชาวบ้านขุดสระเก็บกักน้ำในที่ดินส่วนตัว เพื่อผันน้ำที่ท่วมถนนทุกปีให้ไหลลงคลองส่งน้ำไปเก็บกักไว้ที่แก้มลิง เพื่อเกษตรกรจะได้ดึงน้ำเข้าสระส่วนตัวไปใช้ได้ยามต้องการ
ต่อมาเมื่อน้ำหลากถนนนานเข้าก็เกิดปัญหาชำรุดทรุดโทรม ชุมชนจึงร่วมกันปรับปรุงโครงสร้างให้เป็นถนนน้ำเดิน ปรับความลาดเอียงจากริมถนนเข้าสู่ศูนย์กลางลักษณะรูปตัววี เสริมคัน จัดทำที่ระบายน้ำ รับน้ำ นำน้ำท่วมน้ำหลากส่งต่อไปยังทุ่งรับน้ำและแก้มลิง อีกส่วนส่งต่อไปยังบ่อเก็บน้ำส่วนรวมเนื้อที่ประมาณ 37 ไร่ ซึ่งเป็นสระสาธารณะใช้ร่วมกันทั้งชุมชน
“สิบกว่าปีมานี่ ชาวบ้าน 2,221 ครัวเรือน ไม่เคยมีปัญหาเรื่องน้ำแล้งเลย จากพื้นที่รับประโยชน์ 3,700 ไร่ สามารถขยายผลสู่เครือข่ายทำงานร่วมกัน 42 หมู่บ้าน 5 ตำบล พื้นที่ 173,904 ไร่ มีคลองดักน้ำหลาก และคลองซอย ระยะทางรวมกว่า 47.7 กม. มีสระน้ำ แก้มลิง 61 สระ สระประจำไร่นาอีกกว่า 50 สระ ส่งผลให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มจากเดิมครัวเรือนละราว 40,000 บาทต่อปี กลายเป็นปีละกว่า 200,000 บาท” (จากไทยรัฐฉบับพิมพ์ 21 เม.ย. 2559)
ภาคอีสานมีฝนตกเฉลี่ยปีละ 1,400 มิลลิเมตร มากกว่าภาคกลางและภาคเหนือ แต่มีปัญหาน้ำมากที่สุด คนอีสานย้ายถิ่นฐานมากกว่าคนภาคอื่นๆ ไปหาที่ทำมาหากินที่มีน้ำ ที่อุดมสมบูรณ์มากกว่า อีสานมีจำนวนเขื่อนมากกว่าทุกภาค มีแม่น้ำน้อยใหญ่มากมาย ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งยังคงอยู่ทุกปี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงสอนให้ทำจากเล็กๆ ทำจากชุมชน ให้มีการเรียนรู้เพื่อจะได้ “ระเบิดจากข้างใน” ไม่ใช่ไปสั่งการจากภายนอก หรือไปคิดแทนทำแทนชาวบ้าน
นายกรัฐมนตรีบอกว่าจะสืบสานศาสตร์พระราชา เศรษฐกิจพอเพียง รัฐบาลควรนำเกษตรทฤษีใหม่มาส่งเสริมอย่างจริงจัง เพื่อจะได้สนองพระราชดำริที่ทรงอยากให้เริ่มจากเล็กๆ จากครัวเรือนให้พออยู่พอกินก่อนที่จะไปเน้นแต่การเติบโตทางเศรษฐกิจ วิ่งไปข้างหน้ากับคนรวยส่วนน้อย ทิ้งประชาชนคนยากคนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ไว้เบื้องหลัง
แก้ปัญหาน้ำในระดับใหญ่ไปพร้อมกับส่งเสริมให้เกิดเกษตรทฤษีใหม่ 5-10 ไร่สัก 2 ล้านครอบครัว ก็จะได้พื้นที่เกษตร 10-20 ล้านไร่ ที่ให้ความมั่นคงด้านอาหาร น้ำ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้น เพราะ “เล็กๆ แต่งดงามและมีพลัง” สร้างรากฐานมั่นคงให้สังคมโดยรวมด้วย