กว่า 3 เดือนของการระบาดของโควิดระลอก 3 ที่แม้รัฐบาลโดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.จะพยายามหลีกเลี่ยงที่จะใช้ยาแรง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจมาตลอด โดยพยายามสร้างสมดุลระหว่างระบบสาธารณสุขกับระบบเศรษฐกิจ พร้อมกับการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แต่เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ยอมกดตัวลงต่ำ ในทางตรงข้ามกลับพุ่งทะยานขึ้นไปเรื่อยๆ ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาใกล้จะแตะหลักหมื่น ผู้เสียชีวิตใกล้หลักร้อย ขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยสะสมกว่า 2 แสนราย โดยอาการหนักส่วนใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ทำให้มีความต้องการเตียงไอซียู และแม้แต่เตียงสีเขียวจำนวนมาก ฝ่ายดูแลรักษาเหนื่อยล้า เป็นเหตุผลให้กระทรวงสาธารณสุข โดยนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาแถลงด่วนเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา เสนอยกระดับมาตรการทางสังคม ในการจำกัดการเดินทาง ไม่ออกจากเคหสถานโดยไม่จำเป็น หรือ “ล็อกดาวน์” โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า การจำกัดการเดินทาง ไม่ออกจากเคหสถานโดยไม่จำป็น ยกเว้นการไปซื้ออาหาร พบแพทย์ และฉีดวัคซีน การปิดสถานที่ที่มีความเสี่ยงทั้งหมด ในพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่กันชน อย่างน้อย 14 วัน ซึ่งจะเสนอศบค. เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากที่สุด “มาตรการจะเข้มข้นไม่น้อยกว่าล็อกดาวน์เมื่อเดือนเมษายน 2563 เราให้หลักการไป จำกัดการเดินทางคนในพื้นที่เสี่ยงสีแดง เราจึงใช้ระบบกันชน ซึ่งได้ผลดี และเพื่อป้องกันไม่ให้เดินทางข้ามจังหวัด และระหว่างนี้เราหามาตรการโฮม ไอโซเลชั่น หาสถานที่ไปด้วย” ทั้งนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศบค.ได้แถลงผ่านเพจเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม โดยระบุถึงความจำเป็นของการยกระดับมาตรการตอนหนึ่งว่า “ผมได้ติดตามสถานการณ์การระบาดอย่างต่อเนื่องด้วยความไม่สบายใจ และรับรายงานจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินสถานการณ์และความจำเป็นในการใช้แผนเผชิญเหตุ เพื่อกำหนดมาตรการการควบคุมโรคที่จะต้องเกิดขึ้น และส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมากแต่หากไม่ดำเนินการ อาจจะส่งผลกระทบให้เกิดความรุนแรงมากกว่านี้ ซึ่งเราอาจมีความจำเป็นต้องกำหนดมาตรการเข้มงวดมากยิ่งขึ้นในการจำกัดการเคลื่อนย้าย การป้องกันมิให้มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรม การปิดสถานที่เพิ่มเติม และมาตรการอื่นๆที่จำเป็น” เราเห็นว่า แม้ก่อนหน้านี้จะมีเสียงท้วงติงกลัวว่า “เจ็บแล้วจะไม่จบ” แต่จากสถานการณ์ของประเทศที่มีการระบาดก่อนหน้าประเทศไทย การล็อกดาวน์เพื่อสกัดการแพร่ระบาดดูเหมือนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ในการจำกัดวงของการระบาด เพียงแต่ขึ้นอยู่กับว่าจะตัดสินใจช้าหรือเร็ว เจ็บอีกครั้งหลายกิจกรรมและหลายกิจการอาจไปต่อไม่ไหว และอาจต้องเจ็บซ้ำๆ เมื่อเห็นวิวัฒนาการของเชื้อกลายพันธุ์ กระนั้น ในเมื่อใช้โมเดลเมษาบย 2563 ทราบดีอยู่แล้วว่าใครต้องเจ็บบ้าง สิ่งที่ควรคิดคือมาตรการเยียวยา ที่เปรียบเสมือน “กันชน” สำหรับประชาชน รองรับ “ยาแรง” จึงเป็นสิ่งที่ต้องเตรียมไว้ก่อนให้พร้อม แถลงออกมาก่อนหรือพร้อมกับคำสั่งล็อกดาวน์เป็นแพ็กเกจมาเลยไม่ได้หรืออย่างไร