ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ BOT พระสยาม MAGAZINE (ฉบับที่ 3/2564 (พฤษภาคม - มิถุนายน) ระบุถึงความกังวลใจเรื่องใหญ่ 3 เรื่องคือ ความเร็วในการกระจายวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เท่าทันกับการพัฒนาสายพันธุ์ของเชื้อโควิด –19 ซึ่งจะเป็นทางเดียวในการหยุดยั่งการแพร่ระบาดและนำพาเครื่องจักรสำคัฯในการขับเคลื่อนเศรษษฐกิจไทยอย่างการท่องเที่ยวกลับมา
ข้อ 2 เรื่องของภูมิทัศน์ของธุรกิจและเศรษฐกิจไทยที่จะไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิม ฉะนั้น ผู้ประกอบการ SMEs ควรวางแผนระยะยาวตั้งแต่วันนี้ หากธุรกิจมีหนี้ ก็ควรใช้ช่วงเวลานี้ปรับโครงสร้างหนี้ และหาสภาพคล่องเพื่อมาปรับรูปแบบหรือโครงสร้างธุรกิจรองรับกับการทำธุรกิจยุค new normal
และข้อสุดท้าย คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยผลพวงจากวิกฤตโควิด-19 จะขยายแผลให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยยิ่งรุนแรงขึ้น ขณะที่ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงมากจะเป็น "ตัวฉุด" การฟื้นตัวของหลาย ๆ ครัวเรือน ซึ่งจะซ้ำเติมให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งหนักขึ้น จนอาจก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมา
เมื่อหันมาดูข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยผลสำรวจระบุว่า ข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนล่าสุดในไตรมาส 1/2564 สะท้อนสถานการณ์หนี้สินของประชาชนที่ยังคงมีอัตราการเติบโตเร็วกว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวม โดยยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 1/2564 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 14.13 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90.5% ต่อจีดีพี สูงสุดในรอบ 18 ปี ตามสถิติที่มีการเก็บรวบรวมของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสูงขึ้นต่อเนื่องจากระดับ 89.4% ต่อจีดีพี ในไตรมาสที่ 4/2563
ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า วิกฤตโควิด-19 ที่ลากยาวเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปีจะเพิ่มความเสี่ยงต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ พร้อมๆ ตอกย้ำวังวนปัญหาหนี้สินของภาคครัวเรือนโดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้ไม่สม่ำเสมอ หรือมีรายได้ลดลงจนมีผลกระทบต่อความสามารถในการชำระคืนหนี้
และสำหรับแนวโน้มในปี 2564 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับทบทวนตัวเลขประมาณการหนี้ครัวเรือนไทยขึ้นมาอยู่ที่กรอบ 90-92% ต่อจีดีพี (กรอบเดิมคาดที่ 89-91% ต่อจีดีพี)-สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีขยับขึ้นมาที่ระดับ 90.5% ในไตรมาส 1/2564 หลังโควิด-19 กดดันเศรษฐกิจให้เติบโตช้ากว่าหนี้สินภาคครัวเรือน ย้ำปมปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย
หนี้สินในภาคครัวเรือนของไทยยังคงมีทิศทางขาขึ้นสวนทางภาพความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจที่ยังคงถูกกดดันจากผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 โดยหนี้ครัวเรือนล่าสุดในไตรมาสที่ 1/2564 อยู่ที่ระดับ 14.13 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 90.5% ต่อจีดีพี (สูงสุดในรอบ 18 ปี) ขยับขึ้นจาก 89.4% ต่อจีดีพี ในไตรมาสที่ 4/2563
จากข้อกังวลของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ผนวกกับรายงานการคาดการณ์แนวโน้มหนี้ครัวเรือนของประเทศที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ผลกระทบต่อสังคมเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้าไปมอนิเตอร์ปัญหาในเชิงรุก เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤติสังคม ความไม่ปลอดภัย และความไม่มั่นคงต่างๆ ซ้ำเติมวิกฤติสาธารณสุข และวิกฤติเศรษฐกิจ โดยต้องบูรณาการในทุกองคาพยพโดยเร่งด่วน