ดร.วิชัย พยัคฆโส [email protected] สะเทือนกันไปกับจุดเปลี่ยนของมหาวิทยาลัยไทยที่กำลังเข้าสู่ยุคฟองสบู่แตกด้วยปัจจัยแวดล้อมหลายปัจจัย โดยเฉพาะการเปิดมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชนจนล้นความต้องการของผู้เข้าเรียน กลายเป็นธุรกิจทางการศึกษาที่ไม่ได้สะเทือนถึงคุณภาพบัณฑิต รับปริญญาออกไปวิจัยฝุ่นกันมากต่อมาก ปัจจัยที่เป็นผลกระทบต่อการปรับตัวของมหาวิทยาลัน คือ โลกเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน และนโยบายการพัฒนาประเทศปรับไปสู่ Thailand4.0 เป็นสัญญาณชี้ให้เห็นถึงการพัฒนาประเทศยุคศตวรรษที่21 ต้องใช้คนที่มีคุณภาพเป็นทุนมนุษย์มากยิ่งขึ้น แล้วใครเป็นผู้ผลิต ถ้าไม่ใช่สถาบันการศึกษาทั้งระบบและทุกระดับ ต้องชื่นชมผู้บริหารของมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่พัฒนาต่อเนื่องจนได้รับการยอมรับอยู่ในอันดับโลกและเอเชียเพิ่มขึ้น นั่นคือตัวอย่างของมหาวิทยาลัยที่มองตัวเอง ปรับตัวเองตามบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลง จึงอยู่ที่สภามหาวิทยาลัย อธิการบดี และผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยนั้น ซึ่งล้วนแล้วแต่ไม่มีปัญหาธรรมาภิบาลมากวนใจ หรือ ทำให้การพัฒนาสะดุดลงเพราะต้องการอำนาจ ตำแหน่ง และผลประโยชน์อื่นๆ ดังที่มีข่าวการฟ้องร้องกันในศาลปกครองนับร้อยๆเรื่องในขณะนี้ ในขณะที่รัฐบาลคงวิเคราะห์ดูแล้ว หากเมกกะโปรเจ๊คส์ของรัฐบาลหรือระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) จะประสบผลสำเร็จคงรอมหาวิทยาลัยผลิตกำลังคนตามความต้องการคงยาก จึงใช้ ม.44 เปิดให้มหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีอันดับโลกเข้ามาผลิตกำลังคนที่เป็นทุนมนุษย์ มีสมรรถนะและเทคโนโลยีระดับสูงให้แก่ผู้ลงทุนระดับโลกในคุณภาพและมาตรฐานของมหาวิทยาลัยนั้นใน 3 จังหวัดเป้าหมายให้ เพียงแต่ต้องอำนวยความสะดวกและรัฐบาลต้องสนับสนุนเขาให้มากเป็นพิเศษเท่านั้น ผู้บริหารสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ปรับตัวทันกับโลกได้รวดเร็วเป็นที่น่าชื่นชม โดย ครม.มีมติเห็นชอบให้จัดการศึกษาร่วมกับ Canegie Mellon University มหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกา ในรูปแบบของ Joint Institute ใช้มาตรฐานทั้งการรับนักศึกษา หลักสูตร การวิจัย ฯลฯ เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพสูงรองรับยุทธศาสตร์ชาติ นั่นคือวิสัยทัศน์ของผู้บริหารและเป็นสถาบันที่สร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพที่ผ่านมา รวมถึงปัจจัยภายในของผู้บริหารสถาบันที่เข้มแข็งและมุ่งมั่นจนเป็นที่บอมรับในระดับนานาชาติ รูปแบบเช่นนี้มหาวิทยาลัยอื่นๆ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยใหม่ๆอีกหลายสิบแห่งควรพัฒนาเป็นแบบอย่าง การกล่าวอ้างกันแต่อธิการบดีและผู้บริหารจะมีอายุ 60 ปี หรือมากกว่านั้น มิได้สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพและความสามารถ แต่อยู่ที่ความตั้งใจและแนวทางของการบริหารจัดการที่เป็น dynamic management มากกว่าที่เป็นแต่เพียงนักวิชาการเท่านั้น อายุจึงมิใช่อุปสรรคตามว่าที่อธิการบดีคนใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวไว้ด้วยความมั่นใจ คงช่วยกันจับตาดูว่ามหาวิทยาลัยใด มุ่งแต่โฆษณาประชาสัมพันธ์ตนเอง สร้างภาพต่อภายนอก เพื่อดึงตัวเองขึ้นมาเป็นอธิการบดี ดึงเอาพวกพ้องเครือญาติมาเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย แต่งตั้งระดับรอง ผู้ช่วยอธิการบดี และคณบดีที่ตัวเองสั่งการได้ โดยไม่คำนึงถึงศักยภาพในการบริหาร เพราะมีผลประโยชน์กับงบประมาณแผ่นดินและงบประมาณรายได้เป็นกอบเป็นกำแอบแฝงอยู่ นอกเหนือจากค่าตอบแทน เงินเดือน และรายได้อื่นๆมากอยู่แล้ว แต่คุณภาพการจัดการศึกษาภายในอ่อนแอลงทุกขณะ เพราะมุ่งคิดแต่มาแล้วก็ไป ไม่คิดถึงชาติ ไม่คิดถึงลูกหลานไทยในอนาคต มหาวิทยาลัยไทยจะพัฒนาความเป็นเลิศได้มิใช่การตั้งกระทรวงอุดมศึกษา แต่อยู่ที่การบริหารจัดการมืออาชีพ มือสะอาด โปร่งใส และมีธรรมาภิบาลแค่ไหนของผู้บริหารมหาวิทยาลัย ซึ่งสภาคณาจารย์ฯ พึงปกป้อง สอดส่องความโปร่งใสกับคุณภาพและความสามารถของผู้บริหารมากกว่าที่จะจ้องแต่ประเด็นอายุมาฟ้องร้องต่อศาลเท่านั้น ต้องแสวงหาคนดี มีคุณธรรมและมีธรรมาภิบาลมาปกครองบ้านเมืองของเรา