สถาพร ศรีสัจจัง
คำ “ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา” นี้ เป็นวาทกรรมที่ฝรั่งชาวตะวันตกคนหนึ่งชื่อ นายนอร์แมน จาคอบส์ (Norman Jacobs) ใช้นิยามสังคมไทยไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อ “Modernization without Development : Thailand as an Asian case study” เมื่อสักประมาณ 50 ปีที่แล้ว (หนังสือตีพิมพ์ครั้งแรกที่กรุงนิวยอร์ก ในปี ค.ศ. 1971 (พ.ศ.2514)
ปรากฏว่า วาทกรรมนี้เป็นที่นิยมชมชอบของบรรดา “นักวิชาการหัวนอก” ชาวไทยทั้งหลายมาก จึงมักหยิบยืมนำมาใช้เพื่ออธิบายสังคมไทยกันอย่างกว้างขวางแพร่หลาย กระทั่งในยุคปัจจุบันก็ดูเหมือนจะยังใช้กันอยู่ไม่น้อย
ที่จริงมี “วาทกรรม” ที่เกิดจากข้อเขียนหรืองานวิจัยของฝรั่งอีกหลายวาทกรรมที่นักวิชาการไทยชอบนำมาใช้อธิบายสังคมไทย (ส่วนใหญ่เพื่อให้ชี้ให้เห็นข้อด้อย ข้ออ่อน หรือข้อพร่อง) เช่นคำว่า “สังคมโครงสร้างหลวม” ของนายจอห์น เอมบรี คำ “วัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้า” ของ กาเบรียล อัลมอนท์ และ ซิดนี เวอร์บา หรือ คำว่า “การปกครองแบบราชการ” ของ เฟรด ริกส์ เป็นต้น
เห็นปรากฏการณ์ในสังคมไทยตอนนี้หลายเรื่อง ทำให้อดคิดถึงวาทกรรม “ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา” ขึ้นมาไม่ได้ เพราะน่าจะยังใช้อธิบายปรากฏการณ์ในสังคมไทยตอนนี้ได้ดีอยู่ จึงขอหยิบยืมมาใช้บ้างก็แล้วกัน แม้บางใครอาจจะว่า ดูเชยๆไปหน่อยแล้วก็ช่างเถอะ!
เพื่อให้ดูเป็น “เชิงวิชาการ” น่าเชื่อถือขึ้น จึงขอเริ่มต้นด้วยการนิยาม “Key words” หรือ “คำหลัก” ที่ใช้เป็นหัวเรื่องเสียสักหน่อยก่อน ก็คือคำว่า “ความทันสมัย” (Modernization) และคำว่า “การพัฒนา” (Development) นั่นเอง
พยายามหาบทนิยามคำ 2 คำนี้จากบรรดาเกจิผู้รู้ผู้ลือชื่อหลายท่าน เพื่อนำมา “อ้างอิง” ให้พอดูน่าเชื่อถือขึ้นสักหน่อย มาจบใจอยู่ที่บางส่วนในการนิยามความหมายของท่าน ดร.สมหวัง วิทยาปัญญานนท์ วิศวกรเหมืองแร่และโลหะวิทยา ศิษย์เก่าเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.หาดใหญ่) ที่ไปจบ ป.โททางวิศวกรรมอุตสาหการที่จุฬาฯ และได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ด้านเดียวกัน จากม.ราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
สาเหตุที่เลือกใช้นิยาม (เอามาเพียงส่วนหนึ่ง) ของท่านผู้นี้ก็เพราะเหตุผลเดียว คือเห็นเป็นรูปธรรมเข้าใจง่ายและน่าจะใช้แทนค่า (อย่างที่ควรเป็น) กับสังคมไทยได้ดี (อาจเพราะท่านผู้นิยามเป็นผู้มีแนวนิยมและแนวคิดเกาะแน่นอยู่กับหลักพุทธธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นฐานรากเกี่ยวกับระบบคุณค่าที่สำคัญของสังคมไทย?)
ท่านดร.สมหวัง ได้ให้นิยามคำที่เกี่ยวข้องไว้อย่างน่าฟังดังนี้ :
“ทันสมัย” หมายถึง ตามสมัยที่นิยมกัน เป็นคำนิยมของสังคม หรือกลุ่มชนในแต่ละยุคแต่ละสมัย ในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย การใช้สอย การกิน และการปฏิบัติตน คนที่ทำตามก็เรียกว่า คนทันสมัย คนที่ไม่ตามก็ถือว่า คนเชย ๆ คนคร่ำครึ หรือคนล้าสมัย สิ่งของที่ตกยุคก็เรียกว่าของล้าสมัย คำคำนี้จึงทำให้คนที่ด้อยโอกาสกว่า ทั้งจากด้านอารยธรรม หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ก็จะพยายามเลียนแบบกลุ่มชนอื่น ๆ ที่คิดว่าน่าจะเป็นสิ่งทันสมัย โดยลืมพื้นเพของตนเอง ว่ายังไม่เหมาะสม หรือยังยากจนอยู่ ก็มีการตามแบบอย่างจนดูเป็นการใช้อย่างฟุ่มเฟือย เพื่อจะได้ถูกเรียกว่า “ทันสมัย”
“พัฒนา” หมายถึง กระบวนการเปลี่ยนแปลงจากสภาพหนึ่งไปยังอีกสภาพหนึ่งในทางดีขึ้น หากเปลี่ยนแปลงไปสู่ทางเสื่อม หรือต่ำต้อยเกินไป เราเรียกว่า “หายนะ” หรือ “การเสื่อมถอย”
“คนที่พัฒนา” หมายถึง คนที่มีพฤติกรรมที่กระทำอย่างสม่ำเสมอ ในทางเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ขยันอย่างชาญฉลาด ประหยัดอย่างมีเหตุผล มีความเชื่อมั่นในการพึ่งพาตนเอง เกรงกลัวความชั่วทุกรูปแบบ ...”
หลายใครที่ยัง “ติด” อยู่กับวิธีคิดวิธีนิยามแบบ “ตรรกะ” ของตะวันตก ( ที่ได้รับการ “โปรแกรม” อย่างเป็นรูปธรรมลงในสมองของคนไทยผ่าน “ระบบการศึกษาสมัยใหม่” มาแล้วอย่างน้อย 60 ปี) อาจจะฟังดูเชยๆและ ไม่เป็น “ซายอันติฟิก” หรือ “เป็นวิทยาศาสตร์” อยู่บ้างก็ไม่เป็นไร!
“ปรากฏการณ์สังคมไทย” ตอนนี้ ที่บอกไว้แต่ต้นว่าอดทำให้คิดถึงวาทกรรม “ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา” อย่างน้อยมี 2 เรื่องใหญ่ ที่อยากยกมาเป็นอุทาหรณ์ชี้ให้เห็น นั่นคือเรื่องเกี่ยวกับการเมือง หนึ่ง และเรื่อง “กรณีวัคซีน” อีกหนึ่ง
ส่วนจะมีรายละเอียดของเนื้อหาเรื่องราว และแนวคิดแนวเห็นเช่นใด ก็ลองตามอ่านดูเอาก็แล้วกัน!!!!