“วันนี้อยากย้ำว่า เปิดภูเก็ตไม่ใช่เรื่องภูเก็ตอย่างเดียวแต่เป็นเรื่องของทั้งประเทศ ตรงไหนเปิดได้เปิด ตรงไหนทำได้ทำ แต่ต้องรอบคอบ อย่าประมาท เพราะบางประเทศโควิด-19 กลับมาอีก มีความเสี่ยงบางประเทศเปิดแล้วก็ปิด สิ่งสำคัญเรารับความเสี่ยงได้ไหม รับได้ก็ทำต่อไป…
…การโจมตีซึ่งกันและกันไม่เกิดประโยชน์ใครได้เลย กับประเทศชาติก็ไม่เกิดอะไรเลย ความก้าวหน้านิวนอร์มอลจะไม่เกิด ไม่ได้ทั้งหมดได้เลยก็ติดกักไปทั้งหมด ก็ขอฝากพี่น้องประชาชนทั้งประเทศทุกคนทุกหมู่เหล่าด้วย”
บางช่วงบางตอนจากถ้อยแถลงของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมแถลง ภายหลังการประชุมติดตามการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ที่ถือเป็นโครงการนำร่องในการเปิดประเทศ ตามโรดแมปที่พล.อ.ประยุทธ์ประกาศไว้ ว่าจะเปิดประเทศทั้งหมดในเวลา120 วันให้นักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วเดินทางเข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว โดยจะต้องมีประชาชนได้วัคซีนอย่างน้อยเข็มแรก 50 ล้านคน
อีกดานหนึ่ง ประเทศในกลุ่มอาเซียนอย่างสิงคโปร์ รัฐมนตรีคลังและรัฐมนตรีสาธารณสุข ก็ร่วมกันประกาศโรดแมปไปสู่การใช้ชีวิตตามแบบวิถีใหม่ หรือนิวนอมอล ของประชาชนในสิงคโปร์ โดยจะเปิดประเทศอนุญาตให้ผู้โดยสารจากต่างประเทศเดินทางเข้าสิงคโปร์โดยไม่ต้องกักตัวเช่นกัน โดยจะยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ มาตรการตรวจคัดกรองและการนับตัวเลขผู้ป่วยรายวัน
โดยพวกเขาย้ำให้ประชาชนต้องมีสำนึกรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม เช่น การรักษาสุขอนามัยและเว้นระยะห่างทางสังคม หรือเลี่ยงการไปร่วมงานพบปะสังสรรค์ในกรณีมีอาการป่วย โดยแนวทางใหม่ของสิงคโปร์จะควบคุมให้โรคโควิด-19 กลายเป็นโรคที่อันตรายน้อยลงเรื่อยๆจนกระทั่งไม่แตกต่างจากไข้หวัดธรรมดา
โดยสิงคโปร์จะดำเนินการตามโรดแมปนี้หลังโครงการกระจายวัคซีนดำเนินการเสร็จ ประชากรส่วนใหญ่รับวัคซีนครบแล้ว ซึ่งสิงคโปร์มีประชากรเพียง 5.7 ล้านคน เป้าหมายในต้นเดือนกรกฎาคมนี้ประชาชนหนึ่งในสามจะได้รับวัคซีนเข็มแรกและได้รับวัคซีนทั้งหมดครบภายในวันที่ 9 สิงหาคม
อย่างไรก็ตาม สำปรับประเทศไทยนั้นมีประชากรมากกว่าสิงคโปร์หลายเท่า โดยปัจจุบันมีจำนวนกว่า 69 ล้านคน ก่อนเปิดประเทศนายกรัฐมนตรีตั้งเป้า จะต้องฉีดวัคซีนให้ได้วันละ 5 แสนโดส หรือเดือนละ 15 ล้านคน เพื่อให้ได้ 50 ล้านคนภายใน 4 เดือน
ถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย ที่แม้วันนี้นายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นรัฐบาล แต่เสียงสะท้อนจากโพลระดับผู้บริหารของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เห็นว่าควรเปิดประเทศเมื่อมีความพร้อม สามารถควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ และมีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างมีนัยสำคัญ กระนั้น หากในห้วงเวลา 4 เดือนนี้ปัจจัยทั้ง 2 ประการมีความเหมาะสมก็เชื่อว่าจะเดินหน้าเปิดประเทศต่อไปได้ และเป็นเรื่องที่ดี แต่หากเป็นไปในทางตรงกันข้ามก็ไม่ควรฝืน แม้แรงกระแทกจะตกกระทบไปที่นายกรัฐมนตรีอย่างรุนแรงก็ตาม