เมื่อกล่าวถึงข้อดี-ข้อเสีย ของระบบเศรษฐกิจลัทธิทุนนิยม มนุษย์เราถกเถียงกันมาร้อยกว่าปีแล้วมีความเชื่อขัดแย้งกันจนเกิดเป็นสงครามรุนแรงยาวนาน แม้ในขณะนี้ ความขัดแย้งนี้ก็ยังดำรงอยู่ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวถึงทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งของระบบทุนนิยมไว้ เริ่มจากจุดอ่อนของทุนนิยมสามด้าน ด้านที่หนึ่งคือปัญหาการผูกขาด หรือการผลิตขนาดยักษ์ใหญ่จนสามารถครอบงำตลาดได้ ด้านที่สองซึ่งสำคัญมาก คือทุนนิยมไม่สามารถหลีกเลี่ยงวิกฤติเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นเป็นวงวัฏฏะ ด้านที่สามคือทุนนิยมเป็นเสรี จึงเกิด การเสียของ-เสียเปล่า ได้เสมอ บางเรื่องก็กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ของเอกชนกับผลประโยชน์ของชาติ “จุดอ่อนที่สุดจุดหนึ่งของระบบทุนนิยมก็คือ ภายใต้ระบบนี้ คนรวยมักจะมีทางที่จะรวยยิ่งขึ้นไปได้มาก ทำให้ช่องว่างระหว่าง”คนมี” กับ “คนจน” นั้น ยิ่งกว้างขึ้นไปอีก ถึงแม้ว่าที่ว่ามานี้จะเป็นความจริงสำหรับทุนนิยมระยะแรก ๆ แต่ในปัจจุบันนี้มีสิ่งแสดงให้เห็นว่า ความจริงข้อนี้กำลังจะเปลี่ยนไป ได้แก่การเก็บภาษีคนมีเงินมากในอัตราที่สูงลิ่ว และการเก็บภาษีมรดก นอกจากนั้น ประเทศทุนนิยมหลายประเทศได้กำหนดค่าจ้างอัตราต่ำสุดของแรงงานเอาไว้ ใครจะจ่ายต่ำกว่านั้นไม่ได้ และมีการให้ความช่วยเหลือทางด้านบ้านที่อยู่ การศึกษา และการรักษาพยาบาลในยามเจ็บไข้แก่ผู้ที่มีรายได้ต่ำ แต่ถึงแม้ว่าจะได้มีการแก้ไขในหลายทางเช่นนี้แล้วก็ตามที ความจริงก็ยังมีอยู่ว่า ทรัพย์ส่วนตัวนั้นทำให้เกิดทรัพย์ส่วนตัวมากยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งทำให้รายได้ของคนในประเทศแตกต่างห่างไกลกันได้อย่างกว้างขวางที่สุด….. การผูกขาดนั้น ดูเหมือนจะเกือบหลีกเลี่ยงไม่ได้ในสังคมทุนนิยม เมื่อทุนนิยมสนับสนุนส่งเสริมให้ใช้วิธีการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับการอุตสาหกรรมบางอย่าง การที่จะมีประสิทธิภาพสูงสุดนั้น จะกระทำได้ก็ด้วยการขยายการผลิตออกไปเป็นการผลิตขนาดใหญ่ ความใหญ่ของขนาดแห่งการผลิตและประสิทธิภาพอันสูงนั้น ก็ย่อมจะหาคู่แข่งขันได้ยากเป็นธรรมดา ซึ่งก็หมายถึงการผูกขาดนั้นเอง ระบบทุนนิยมนั้น จนถึงวันนี้ก็ยังไม่สามารถรับมือกับวัฏฏะแห่งเศรษฐกิจได้ ทั้งนี้ การผลิตและการค้าที่จะรุ่งเรืองเฟื่องฟูไปพักหนึ่ง แล้วก็กลับตกต่ำทรุดโทรมหมุนเวียนกันไปดังนี้ไม่มีที่สิ้นสุด ที่เป็นเช่นนี้ น่าจะเป็นเพราะระบบทุนนิยมเป็นระบบที่เป็นเสรีเสียจนเหมือนกับว่า ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามยถากรรม ธุรกิจภาคเอกชนไม่ต้องถูกรัฐบาลควบคุมดูแลให้ถึงขนาดที่จะทำให้เศรษบกิจเฟื่องฟูแล้วกลีบตกต่ำนั้นเกิดผลร้ายให้น้อยที่สุด จุดอ่อนอีกอย่างของทุนนิยมซึ่งอาจะกล่าวถึงได้ก็คือ ภายใต้ระบบทุนนิยมนั้น ทรัพยากรของชาติไม่จำต้องถูกใช้ไปในทางที่ดีที่สุด ถึงแม้ว่าระบบทุนนิยมจะเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูง ระบบนี้ก็ยังเป็นระบบที่ก่อให้เกิดความเสียเปล่าอยู่มาก กรณีเช่นนี้จะเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ของธุรกิจเอกชนอันใดอันหนึ่ง ไม่ตรงหรือขัดต่อประโยชน์แห่งชาติ ในสถานการณ์เช่นนี้ หากเอกชนได้กำไร ชาติก็ต้องขาดทุน ป่าไม้เมืองไทยเป็นตัวอย่างอันดีที่สุดสำหรับเรื่องนี้” ระบอบเศรษฐกิจและระบอบปกครองทุกแบบ ล้วนมีสองด้านคือทั้งด้านดีและด้านลบ ถ้ารัฐไม่ระมัดระวังผลด้านลบของระบอบทุนนิยม รัฐนั้นก็อาจถูกประชาชนที่เดือดร้อนรังเกียจ กระทั่งอาจถึงขั้นต่อต้านได้ ในยุคนี้ ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับพลเมืองก็มักเกิดจากบทบาทด้านลบของ “ทุน” เสียเป็นส่วนใหญ่ ผู้นำของรัฐบาลไทยพึงตระหนักระมัดระวังผลด้านลบของ “ทุนนิยม”