กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ออกแนวทางปฏิบัติสำหรับกลุ่มผู้ที่ผู้ติดเชื้อโควิดที่สามารถกักตัวได้ที่บ้าน หรือ Home Isolation ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ พยาบาล ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลสนามสามารถบริหารจัดการเตียงให้กับผู้ป่วยที่มีอาการหนักได้ โดยต้องปฏิบัติดังนี้1. ห้ามผู้ใดมาเยี่ยมบ้านระหว่างแยกกักตัว 2.ไม่เข้าใกล้หรือสัมผัสกับผู้สูงอายุหรือเด็กอย่างเด็ดขาด โดยรักษาระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร 3.แยกห้องพัก ของใช้ส่วนตัวกับผู้อื่น หากแยกห้องไม่ได้ควรแยกบริเวณที่นอนให้ห่างจากคนอื่นมากที่สุด และควรเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่ควรนอนร่วมกันในห้องปิดที่ใช้เครื่องปรับอากาศ 4.หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน ควรรับประทานในห้องของตนเอง หรือหากรับประทานอาหารด้วยกันควรแยกรับประทานของตนเองไม่รับประทานอาหารร่วมสำรับเดียวกันหรือใช้ช้อนกลางร่วมกัน และรักษาระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 2 เมตร 5.สวมหน้ากากอนามัย หรือ หน้ากากผ้า ตลอดเวลาที่จะออกมาจากห้องที่พักอาศัย 6.ล้างมือด้วยสบู่หรือทำความสะอาดมือด้วย Alcohol gel ทุกครั้งที่จำเป็นจะต้องสัมผัสกับผู้อื่นหรือหยิบจับของที่จะต้องใช้ร่วมกับผู้อื่นและ7.แยกซักเสื้อผ้า ผ้าขนหนู และเครื่องนอนด้วยน้ำและสบู่หรือผงซักฟอก ควรใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่นหากเลี่ยงไม่ได้ ให้ใช้คนสุดท้าย ปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำและหมั่นทำความสะอาดอยู่เสมอ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสปสช.ชี้แจงว่าระบบ Home isolation ของไทยจะต่างจากของต่างประเทศซึ่งให้คนไข้ดูแลตัวเองทุกอย่าง แต่ระบบของไทยจะยังอยู่ในการดูแลของโรงพยาบาล โดยมอบอุปกรณ์วัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนไปที่บ้านเพื่อวัดค่าต่างๆ มีแพทย์โทรศัพท์หรือวิดีโอคอลตรวจสอบอาการทุกวัน มีการส่งอาหารและน้ำให้วันละ 3 มื้อ หากอาการทรุดลงก็จะส่งยาฟ้าทะลายโจรและยาฟาวิพิราเวียร์ไปให้ที่บ้านหรือส่งรถไปรับมานอนที่โรงพยาบาล “สปสช.เราจะสนับสนุนค่าบริการให้แก่โรงพยาบาลตั้งแต่ค่าตรวจหาเชื้อ ค่ารักษา ค่ายา และยังจะสนับสนุนค่าอุปกรณ์ไม่เกิน 1,100 บาท และค่าดูแลผู้ป่วยรวมอาหาร 3 มื้อ ไม่เกิน 1,000 บาท/วัน เป็นเวลา 14 วันให้ด้วย สิ่งที่เรากลัวคือท่านไม่อยู่บ้านแต่ออกมาข้างนอก แต่คนไข้ที่จะทำแบบนี้ก็ต้องมีการแนะนำแนวทางการปฏิบัติตัวกันระดับหนึ่งเพื่อให้ปฏิบัติตามกฎและอยู่บ้านจริงๆ” นอกจากการทำ Home isolation ในบางสถานที่ที่มีผู้ติดเชื้อหลายคนอาจทำเป็นลักษณะ Community isolation ก็ได้ คือนำผู้ป่วยหลายๆ คนไปดูแลในสถานที่ที่จัดไว้เป็นการเฉพาะในชุมชน เช่น ในโรงงาน ในวัด เป็นต้น มีรถเอกซเรย์ รถแล็บไปตรวจ มีแพทย์ใช้ระบบ teleconference ดูแลสอบถามอาการทุกวัน ทาง สปสช.ก็จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้เช่นเดียวกัน เราคาดหวังว่าระบบ Home Isolation จะตอบโจทย์วิกฤติเตียงไม่พอ และช่วยปกป้องบุคคลากรทางการแพทย์ ที่สำคัญคือการให้ความรู้ ความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในการดูแลตนเองเบื้องต้นเพื่อป้องกันไม่ให้อาการลุกลาม และที่สุดคือความหวังที่ผู้ติดเชื้อเหล่านั้นจะหายขาดจากอาการได้ โดยไม่มีอาการรุนแรง ไปพร้อมกับมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามจังหวัด ที่จะสามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้ เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง และระบบสาธารณสุขกลับมารองรับได้ตามปกติ