กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เก็บตัวอย่างจากพื้นที่ทั่วประเทศ ข้อมูลเมื่อวันที่ 1 เม.ย.-20 มิ.ย.64 ตรวจสายพันธุ์ 6,000 คน พบเป็นสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) 5,641 ราย รองลงมาคือ สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) พบ 661 คน นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะแพทย์เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลว่า ขณะนี้เป็นลักษณะการระบาดมีทั้งคลัสเตอร์ใหญ่ เช่น แคมป์คนงานหลักสี่ ชุมชนคลองเตย ฯลฯ ส่วนใหญ่จะเป็นคลัสเตอร์ขนาดกลางที่จำนวนผู้ติดเชื้อไม่ถึงหลักพันราย แต่มีหลายคลัสเตอร์ ซึ่งขณะนี้มีรวมๆ 110 คลัสเตอร์ ทำให้พื้นที่การทำงานกระจายออก ส่งผลให้มีจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อค่อนข้างมาก การควบคุมโรคก็มีความซับซ้อน ต้องใช้บุคลากรลงไปทำงานจำนวนมาก โดยจำนวนคลัสเตอร์ในกรุงเทพฯ เป็นคลัสเตอร์แคมป์คนงานจำนวนหนึ่ง ส่วนที่เหลือคือ ชุมชนแออัด โรงงาน นับเป็นข้อมูลที่พึงตระหนักถึงแนวโน้มการแพร่ระบาดขอ งไวรัสโควิดสายพันธุ์นี้ที่จะเข้ามาเป็นสายพันธุ์หลักในการระบาด ในขณะที่การระบาดระลอก 3 จากสายพันธุ์อังกฤษยังไม่สงบ ท่ามกลางความอ่อนล้าของระบบสาธารณสุขไทย การขยับเลื่อนเวลาฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา จากกำหนดเดิมที่เว้นระยะห่าง 16 สัปดาห์ร่นมาเป็น 12 สัปดาห์ ก็เพื่อหวังที่จะสกัดกั้นความรุนแรงจากการระบาดของสายพันธุ์นี้ จากแถลงการณ์ของบริษัท แอสตราเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด อ้างสาธารณสุขประเทศอังกฤษ (PHE) รับรองวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตราเซนเนก้าสามารถป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้ในระดับสูง หลังฉีดครบทั้งสองเข็มแล้ว วัคซีนมีประสิทธิผลสูงถึง 92% ในการป้องกันการนอนโรงพยาบาลและไม่มีผู้ที่เสียชีวิตจากสายพันธุ์เดลตาในกลุ่มที่ได้รับวัคซีน ข้อมูลจากนพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า สายพันธุ์ เดลตา (อินเดีย) ติดได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อังกฤษ จึงมีแนวโน้มระบาดมาแทนที่สายพันธุ์อังกฤษอย่างแน่นอน เมื่อติดง่าย ก็จะระบาดได้เร็วขึ้นกว่าสายพันธุ์อังกฤษ ที่เกิดขึ้นในรอบที่ 3 “ขณะนี้แนวโน้มของสายพันธุ์ เดลตา ในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด และจะทำให้เกิดการระบาดง่ายขึ้น การควบคุมก็จะยากขึ้น การที่จะลดการระบาดของโรคในขณะนี้ สามารถทำได้โดย ระเบียบวินัยที่เคร่งครัด ในการป้องกันตนเองอย่างที่ปฏิบัติกันมา ไม่ว่าจะใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ กำหนดระยะห่างต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ลดการเคลื่อนย้าย ของแรงงานอย่างเด็ดขาด ให้วัคซีนให้มากที่สุด และเร็วที่สุดในการลดความรุนแรงของโรค และการแพร่กระจาย ให้ได้มากที่สุด.” วันนี้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือร่วมใจ เพื่อสกัดกั้นการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตา และไวรัสกลายพันธุ์ แม้จะกดตัวเลขให้ต่ำลงไม่ได้แต่ก็อย่าให้กราฟตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูงไปกว่านี้