สถาพร ศรีสัจจัง
พรรคคอมมิวนิสต์จีน ( The Communist Party of China : CPC.) จดทะเบียนก่อตั้งเป็นพรรคการเมืองเล็กๆในปีค.ศ.1921 (พ.ศ.2494) ในยุคที่ประเทศจีนเพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็น “สาธารณรัฐจีน” ภายใต้การนำของท่าน ดร.ซุนยัตเซ็น นักเรียนนอกหัวประชาธิปไตย(แบบตะวันตก)ผู้เป็นเป็นหัวหน้าพรรคก๊กมินตั๋งอย่างที่รู้ๆกัน
ปีค.ศ.2021 (พ.ศ.2464)คือปีนี้นี้ อายุพรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงครบ 100 ปี หรือ 1 ศตวรรษพอดี !
แต่ถ้านับจากปีที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การนำของประธานเหมา เจ๋อ ตง มีชัยในสงครามกลางเมืองเหนือพรรคก๊กมินตั๋งภายใต้การนำของจอมพลเจียง ไค เช็ค(ขณะนั้น)จนต้อง “ถอยหนีลงทะเล” ไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นอยู่ที่เกาะไต้หวันมาจนถึงปัจจุบัน ในปี ค.ศ.1949 (พ.ศ.2492) และได้เข้ากุมบังเหียนประเทศจีน ประกาศใช้ “ระบบสังคมนิยม” นำพาประเทศ และประกาศชื่อประเทศจีนใหม่เป็น “สาธารณรัฐประชาชนจีน” ( The People Republic of China)ในปีนั้น ก็นับเวลาได้ 72 ปีเต็ม
นักวิชาการไทยหลายคนเขียนถึงเหตุการณ์นี้ ที่น่าสนใจคือชิ้นงานของรองศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ อักษรศรี พานิชสาส์น แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจจีนร่วมสมัยคนสำคัญ
บทความของอาจารย์ชื่อ “ถอดบทเรียนบนเส้นทาง 100 ปี พรรคคอมมิวนิสต์จีน : จุดอ่อนและจุดเด่นของ model การเมืองจีน” สามารถหาอ่านได้ในกูเกิ้ลหรือใน “ยูทูบ”
ในบทความชิ้นดังกล่าว อาจารย์อักษรศรี สรุปว่า ห้วงเวลา 72 ปี ของประเทศจีนใหม่ ภายใต้การกำกับบริหาร(แบบพรรคการเมืองเดียวที่จีนเรียกว่า “ระบบประชาธิปไตยรวมศูนย์”) ของพรรคอมมิวนิสต์จีน สามารถนำพาประเทศจีนฝ่าความยากลำบากนานัปการ จากประเทศที่ยากจนข้นแค้น ไร้ศักดิ์ศรี กลายเป็นประเทศที่มั่งคั่ง และกลายเป็นมหาอำนาจของโลกยุคปัจจุบันในท้ายที่สุดอย่างที่รู้ๆเห็นๆกันอยู่
อาจารย์สรุปอีกว่า ช่วง 72 ปีดังกล่าว สามารถแบ่งจีนได้เป็น 5 ช่วงเวลาใหญ่ๆ ภายใต้การนำของผู้นำ 5 คน คือ ช่วงที่ 1 ภายใต้การนำของประธานเหมา เจ๋อ ตง ช่วงที่ 2 ภายใต้การนำของเติ้ง เสี่ยว ผิง ช่วงที่ 3 ภายใต้การนำของเจียง เจ๋อ หมิ่น ช่วงที่ 4 ภายใต้การนำของหู จิ่น เทา จนกระเข้าสู่ยุคที่ 5 คือยุคปัจจุบัน ภายใต้การนำของผู้นำที่ฟังว่า “เป็นคนสงบนิ่งอาจหาญชาญฉลาด” ที่ชื่อ สี จิ้น ผิง อดีตนักศึกษาวิชาเอกเคมีจากมหาวิทยาลัยซิงหวา
แม้การปฏิวัติวัฒนธรรมที่เกิดในยุคของประธานเหมา ระหว่างปี ค.ศ.1966-1976 จะทำให้สังคมจีนเสียโอกาสในการพัฒนาไปมาก(และมีผลกระทบโดยตรงต่อครอบครัวของสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีจีนคนปัจจุบัน)แต่ชัยชนะในการต่อสู้ทางความคิดของเติ้ง เสี่ยว ผิง เจ้าของวาทกรรม “ไม่ว่าแมวขาวหรือแมวดำ ขอเพียงจับหนูได้ ก็นับเป็นแมวที่ดี” ในภายหลัง ก็ทำให้จีนเริ่มต้นค้นพบระบบ “แบบจีน” ที่เรียกว่า “ระบบ 4ทันสมัย” ที่ไม่ยึดกุมความคิดแบบ “วัตถุนิยมกลไก” อีกต่อไป ก่อเกิดระบบเศรษฐกิจแบบจีนที่เรียกว่า “Socialist Market Economy with chinese Characteristics” อันนำพาให้ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนพบกับความรุ่งเรืองก้าวหน้าในท้ายที่สุด
และยิ่งได้รับความก้าวหน้ายิ่งขึ้น เมื่อผู้นำรุ่นที่ 5 อย่าง สี จิ้น ผิง ชูวาทกรรม “คิดใหญ่ มองไกล”ขึ้นเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ เกิดเป็นนโยบาย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ( Belt and Road
Initiatives : BRI.) และ เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล ( Data-driven Economy) จนทำให้จีนสามารถแซงล้ำหน้าสหรัฐอเมริกาในหลายมิติ โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และสามารถสร้างสังคมไร้เงินสด( Digital Currency)ได้สำเร็จเป็นประเทศแรกของโลก ทั้งนี้รวมถึงการ กลายเป็นประเทศที่มีตลาดออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดของโลกอีกด้วย!
ชิ้นงานของอาจารย์อักษรศรี พานิชสาส์น สรุปประเด็นการพัฒนาจีนภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในรอบ 72 ปี ว่า มีคุณลักษณะที่น่าสนใจรวม 12 คุณลักษณะด้วยกัน ที่สำคัญๆที่น่ากล่าวถึง เช่น :
-พรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถสร้างโมเดลการพัฒนา “แบบจีน” ขึ้นได้สำเร็จ(อันนี้สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานของหลัก “วัตถุนิยมวิภาษวิธี” ตามข้อเสนอของ คาร์ล มาร์กซ์)ทำให้มี “เครื่องมือ” ในการพัฒนาประเทศอย่างสอดรับกับความเป็นประชาชาติจีนเอง
-พรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่หมกมุ่นหรือยึดติด “อุดมการณ์” การปฏิวัติสังคมแบบกลไก แต่สามารถพลิกแพลงปรับปรนตามเงื่อนไขภววิสัยที่เป็นจริง
-พรรคคอมมิวนิสต์จีนเน้นการพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป( Gradualism)
-ไม่ทำตัวเป็น “นกกระจอกเทศเอาหัวมุดดินหนีปัญหา” คือยอมรับและเผชิญกับปัญหาที่มีอยู่ เช่น ปัญหาความยากจนของประชากร ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และปัญหาคอร์รัปชัน เป็นต้น จากนั้นจึงวางแผนในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ เช่น สามารถแก้ความยากจนได้ทีละเปลาะๆ จนหมดสิ้นในปีค.ศ 2020 ตามแผน การปราบปรามการคอรัปชั่นอย่างเอาจริงเอาจังและเด็ดขาดจนเป็นที่ประจักษ์ ฯลฯ
คุณลักษณะการพัฒนาประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่น่าจะสำคัญที่สุดในการเสนอของอาจารย์อักษรศรี น่าจะได้แก่ การสามารถสร้าง “ความภูมิใจในชาติ” ขึ้นได้อย่างเป็นผล อันส่งผลให้เกิดคุณลักษณะสำคัญที่สุดของจีนยุคนี้ นั่นคือการสร้าง “ความฝันร่วมกันของประชาติ” (Zhong Gua Meng) ที่มีเป้ามุ่งสำคัญ 2 ประเด็นใหญ่ คือ 1)จีนต้องบรรลุถึงสังคม “เสี่ยวคัง” (พออยู่พอกินแบบถ้วนหน้า และ 2)จีนต้องบรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศสังคมนิยมที่ “แข็งแกร่ง ทันสมัย ร่ำรวย มีอารยธรรม ปรองดอง สวยงาม และ เป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลของโลก”!!
นอกจากเมื่อได้ฟังได้รับรู้อดจะชื่นชมยินดีไปกับประชาชาติจีนยุคใหม่ไม่ได้แล้ว สิ่งที่อยากรู้ต่อมาก็คือ ท่านนายกฯลุงตู่ผู้นำของเรา จะมีเวลาและโอกาสได้อ่านบทความดีๆแบบนี้กับเขาบ้างหรือเปล่า(วะ!)!!!!