รศ. ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต นับตั้งแต่กระทรวงสาธารณสุข ประกาศยืนยันพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2563 ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวหญิงชาวจีน อายุ 61 ปี ที่เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น จากวันนั้น...จนถึงวันนี้ กล่าวได้ว่าการระบาดระลอกที่ 4 มาถึงเร็วกว่าที่แพทย์ประเมินไว้มาก เพราะพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าที่ศิริราชแล้วจำนวนเกินครึ่ง ทั้งที่ ๆ การระบาดระลอกที่ 3 ยังไม่จบเพราะกดตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ลง มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นหลายพันคนต่อวัน พบตัวเลขผู้ติดเชื้อแตะนิวไฮที่ 5,046 คน (ศบค. 28 มิ.ย. 64) และเสียชีวิต 51 ราย (ศบค. 26 มิ.ย. 64) เมื่อผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่เป็นคลัสเตอร์กรุงเทพฯ และปริมณฑลที่อยู่ในสถานประกอบการ ชุมชน แคมป์คนงาน ฯลฯ ล่าสุดถึงกับต้องมีประกาศการล็อกดาวน์กะทันหันช่วงดึก การระบาดที่กดตัวเลขผู้ป่วยไม่ลงสะท้อนถึง “ความล้มเหลว” ของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่อง ‘การบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19’ ทั้งการจัดหาวัคซีน การจัดสรรวัคซีน และการฉีดวัคซีน ที่เป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น (นี่ยังไม่รวมถึงกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ถึงคุณภาพของวัคซีนอีกต่างหาก) แม้ว่าจะผ่านการฉีดปูพรมที่ดูสวยงามมาเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตามติดมาด้วย ‘การบริหารจัดการเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19’ เข้าสู่ภาวะวิกฤติ ต้องปรับวิธีบริหารจัดการผู้ป่วยแบบ “Home Isolation” ถ้าไม่มีอาการและมีอายุน้อยกว่า 60 ปี ให้อยู่ดูแลรักษาตัวเองที่บ้าน เมื่อรัฐบาลรับมือวิกฤติโควิด-19 ระลอกที่ 3 และ 4 ไม่เข้าเป้าทั้งในสายตาประชาชน และทุก ๆ ภาคส่วนของประเทศแล้วก็ยากที่เศรษฐกิจจะพลิกฟื้นตัว การเรียนการสอนในสถานศึกษาก็จะลุ่ม ๆ ดอน ๆ ต่อไป ภาคการผลิตก็จะกระเทือนตามมาติด ๆ แม้ว่าการส่งออกจะมีแนวโน้มสดใสในตลาดต่างประเทศ เพราะขาดแคลนแรงงานไทยและต่างด้าว และที่น่าเป็นห่วงสุดสุดคือ ภาคการเงินการคลังที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือให้ดี “เม็ดเงินเยียวยา” คงติดฝืดเข้าสักวัน ถ้าโควิด-19 ลากยาวอีกอย่างน้อย 2 ปี ปัญหาลามเป็นลูกโซ่แน่ๆถ้าไม่เร่งสกัดโควิด-19 ให้อยู่หมัด และก็คงหมดสิทธิ์ไปต่อโดยเฉพาะนโยบายการเปิดประเทศภายใน 120 วัน เพราะเปิดไปก็ไม่มีใครกล้ามาเยือน แล้วประเทศไทยจะเอาชนะโควิด-19 ได้อย่างไร? - จิ๊กซอว์สำคัญที่สุดในการสู้โควิดระบาดคือการตรวจคัดกรองโรค ระบุวิธีการของประเทศที่คุมได้ดีจะต้องออกมาตรการเข้มข้นทันทีตั้งแต่เริ่มเจอ ควบคู่ไปกับการปูพรมตรวจในพื้นที่เสี่ยง (รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) - การเร่งจัดหาวัคซีน และเร่งฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ โดยปรับแผนการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ให้เร็วขึ้น เช่น ฉีดแอสตร้าเซเนกา เข็มที่ 1 และ 2 ห่างกัน 8 สัปดาห์ (เดิมกำหนดให้ฉีดห่างกัน 10-12 สัปดาห์ และมากถึง 16 สัปดาห์) หรือชิโนแวค/ชิโนฟาร์มฉีดห่างกัน 3-4 สัปดาห์ เพื่อรักษาระดับภูมิคุ้มไวรัสให้อยู่ สูงระดับ 68% (คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ) - นักการเมืองเน้นทำงานเชิงรุกที่เร็วและแรงเหนือการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ เช่น เดลต้า เบต้า ฯลฯ โดยใช้ข้อมูลที่มีคุณภาพอย่างสร้างสรรค์ขับเคลื่อนการตัดสินใจ 360 องศาที่รอบคอบและรัดกุมบนฐานคิดเพื่อชีวิตประชาชนที่ปลอดภัย - ประชาชนทุกคนต้องให้ความร่วมมือกับมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือติดแต่ไม่หนัก เช่น เมื่อมีโอกาสฉีดวัคซีนให้รีบถกแขนเสื้อฉีดโดยไม่รั้งรอ รักษาระยะห่างทางสังคม หมั่นล้างมือให้สะอาด วัดอุณหภูมิร่างกาย ใส่หน้ากากอนามัย ไม่ไปในที่แออัด รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ล้วนเป็นสิ่งที่รับรู้โดยทั่วกัน...แต่จะปฏิบัติหรือไม่ก็ต้องว่ากันอีกที ถ้าจะกล่าวโดยสรุป ประเทศไทยจะผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ได้ คนไทยทุกคนไม่ว่าจะมีบทบาทและหน้าที่ ณ จุดใดของการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ว่ารัฐ เอกชน องค์กร หรือบุคคลผู้รับผลกระทบไม่ว่าจะโดยตรงหรืออ้อมต้องมีวินัย เสียสละ อดทน เอื้ออารี และเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แค่นี้ก็น่าจะเอาชนะโควิด-19 ได้ สู้ สู้ สู้ ... อย่าท้อครับ