เสรี พงศ์พิศ FB Seri Phongphit “เด็กทุกคนเป็นศิลปิน ปัญหาคือจะยังเป็นศิลปินเมื่อโตขึ้นได้อย่างไร” ปีกัสโซ่ ศิลปินแห่งศตวรรษที่ 20 พูดไว้เมื่อกว่า 50 ปีก่อน ซึ่งรุสโซ ปราชญ์ชาวฝรั่งเศสได้ตอบตั้งแต่ 250 ปีแล้วว่า “คนเราเกิดมาเสรี แต่ทั่วไปเต็มไปด้วยพันธนาการ” รวมทั้งการศึกษาซึ่งทำลายพลังสร้างสรรค์ อันเป็นพลังแห่งศิลปะในตัวเด็ก รุสโซบอกว่า สังคมทำให้คนมีปัญหา การศึกษาไม่ได้ช่วยพัฒนา เพราะเป็นการศึกษาที่มองคนเป็นเครื่องจักร ไม่ได้มองในฐานะที่เป็นคน โรงเรียนเป็นเหมือนโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตคนออกไปในรูปแบบเดียวกันหมด ไม่ได้เห็นความแตกต่างหลากหลายที่เป็นพลังในตัวเด็ก รุสโซบอกว่า การศึกษาไม่ได้เอาเด็กเป็นศูนย์กลาง แต่เอาครู เอาวิชา เอาคะแนนเป็นหลัก ไม่น่าเชื่อว่า หนังสือ “Emile : or, on Education” เขียนเรื่องนี้เมื่อกว่า 250 ปีก่อน โลกเปลี่ยนตลอดมา แต่การศึกษาไม่เปลี่ยน มีการศึกษา แต่ไม่มีการเรียนรู้ (education without learning) ระบบการศึกษาวันนี้มาจากตะวันตก เป็นผลสืบเนื่องมาจากยุคเรืองปัญญา (Enlightenment 1650-1800) ที่ให้ความสำคัญกับเหตุผลมากที่สุด การใช้สติปัญญาเพื่อพัฒนาความรู้ วิชาการ เทคโนโลยี ซึ่งด้านหนึ่งก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างใหญ่หลวงในแทบทุกด้าน แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้เกิดผลเสียตามมาด้วย การยกเหตุผลเป็นใหญ่ แทนความเชื่อศรัทธาแบบศาสนาก่อนนั้น ทำให้สังคมสร้างมาตรฐานความเป็นคนว่า มาจากการมีเหตุผล ที่วัดได้จากการศึกษา การเรียน ระดับชั้น ปริญญา ระบบการศึกษาพัฒนาขึ้นมาพร้อมกับระบบอุตสาหกรรม ส่วนหนึ่งจึงผลิตคนเพื่อไปรับใช้อุตสาหกรรม ส่วนหนึ่งเพื่อบริหารบ้านเมือง ประกอบอาชีพต่างๆ จึงเห็นว่า มี “สูตร” ไว้หมดแล้วว่า ควรจะเรียนอะไรเพื่อไปรับใช้สังคม ยุคเรืองปัญญามองว่า เหตุผลเป็นเรื่องสากล ไม่ว่าที่ไหนและเมื่อไร ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางบริบทของสังคมวัฒนธรรม มองว่าสิ่งเหล่านี้เป็น “อคติ” ด้วยซ้ำ ควรตัดออกไปไม่ให้เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงความจริง การศึกษาที่มาจากกระบวนทัศน์ดังกล่าว จึงเป็นการสอนหรือนำเสนอ “ความจริง” ที่เป็น “สากล” ให้แก่ผู้เรียน แม้จะเป็นยุคที่เหตุผลเป็นใหญ่ และให้มีการถกเถียง วิเคราะห์ วิจารณ์ และหาหลักฐานแบบวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เชื่อแบบ “งมงาย” หรือเพราะศาสนาสอนไว้ ผู้ใหญ่บอก แต่ที่สุดก็ยังตกหลุมพรางทางความคิดและเหตุผลของตนเอง ไม่ยอมรับความหลากหลายของ “ไวยากรณ์ชีวิต” ที่เรียกว่าวัฒนธรรม สังคมตะวันตกในยุคต่อมา คือ ยุคโรแมนติกที่เริ่มมีปฏิกิริยามาตั้งแต่ปลายยุคเรืองปัญญาอย่างงานของรุสโซ เป็นสังคมที่เห็นความสำคัญของเหตุผล แต่ก็ให้ความสำคัญกับญาณทัศนะ การหยั่งรู้ด้วยจิตสัมผัส และมองคนอย่างเป็นองค์รวม เห็นปัญหาของการมองโลกแบบกลไกและลดทอนลงมาเหลือเพียง “เหตุผล” ยุคโรแมนติกจึงกลับไปหาธรรมชาติ ซึ่งมองอย่างเป็นอินทรีย์ เป็นองคาพยพที่ทุกส่วนล้วนสัมพันธ์กัน มีพลังในตัวมันเอง มองเด็กเหมือนเมล็ดพันธุ์ที่ลงดินแล้วเติบโตเป็นไม้ใหญ่ได้ถ้าหากได้ดิน น้ำ แดดดี คือได้รับการศึกษาที่ดี ที่ช่วยพัฒนาศักยภาพในตัวเด็ก ที่เป็น “ศิลปิน” แต่เด็ก ก็ยังเป็น “ศิลปิน” เมื่อโตขึ้น คือยังเต็มไปด้วยพลังสร้างสรรค์ และความอยากรู้อยากเห็น อยากสร้างสิ่งใหม่ๆ ยุคโรแมนติกเห็นความแตกต่างหลากหลายของชีวิต ของสิ่งที่เรียกว่า “วัฒนธรรม” เป็นยุคที่ทำให้คนสนใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ความรู้ภูมิปัญญา เพื่อพัฒนาเอกลักษณ์ของตัวเอง ดังกรณีของเกอเต้และปราชญ์เยอรมันหลายคนในยุคนี้ที่ขับเคลื่อนขบวนการ “คืนสู่รากเหง้า” ฟื้นฟูวัฒนธรรมท้องถิ่น เพราะนั่นคือความหลากหลายและพลังสร้างสรรค์ของชีวิตและสังคม (สถาบันวัฒนธรรมเยอรมันจึงมีชื่อว่า สถาบันเกอเต้) จากรุสโซผ่านยุคโรแมนติก สังคมได้เรียนรู้ว่า มนุษย์มีความหลากหลายโดยธรรมชาติ จึงควรให้การศึกษาที่เหมาะกับลักษณะเฉพาะของเด็กแต่ละคน (individualized education) ซึ่งมีควาอยากรู้อยากเห็น อยากเรียนรู้ มีคำถามมากมายตั้งแต่รู้ความ แต่ดูเหมือนว่า ยิ่งไปโรงเรียนยิ่งถามน้อยลง เพราะมีคำตอบหมดแล้ว เด็กมีพลังสร้างสรรค์ในตัวเอง ครูที่ดีจะค้นพบศักยภาพและช่วยส่งเสริม ดึงพลังสร้างสรรค์ในตัวเด็กออกมา ให้เขาเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด การวัดผลมีประโยชน์ แต่ไม่ใช่อะไรที่สำคัญที่สุดอย่างที่ทำให้รู้สึกกันวันนี้ จนทุกอย่างทำเพื่อการวัดผลเด็ก ประเมินผลครู จนเครียดทั้งครูทั้งนักเรียน หมกหมุ่นวุ่นวายอยู่แต่กับการเตรียมสอบ เรียนพิเศษ ครูก็ได้แต่ทำรายงาน ทำผลงานเพื่อเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง มีโครงการปฏิรูปการศึกษาที่เกิดขึ้นทั่วไปในโรงเรียนหลายแห่ง ครูหลายคน มหาวิทยาลัยหลายแห่ง อย่าง “โครงการก่อการครู” คงเป็นวิธีการแบบนี้ต่างหากกระมังที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการศึกษาได้จริง ไม่ใช่ที่กระทรวง ซึ่งยังทำหน้าที่ควบคุม ไม่ใช่ส่งเสริมสนับสนุน และให้การศึกษาเกิดขึ้นจริงๆ ที่โรงเรียน โดยครู โดยนักเรียน โดยท้องถิ่นร่วมมือกันดูแล สนับสนุนและพัฒนา พูดกันมา 250 ปีว่า การศึกษาให้เอาเด็กเป็นศูนย์กลาง ถ้าไม่เปลี่ยนกระบวนทัศน์การศึกษา วิธีคิดวิธีปฏิบัติยังเหมือนเดิม การปฏิรูปการศึกษาก็ไม่เกิด กระทรวงศึกษาธิการมีงบประมาณมากที่สุด แต่งบ “ลงทุน” พัฒนาครู พัฒนาระบบการศึกษามีน้อยมาก การศึกษาจึงเตี้ยอุ้มค่อม ความจริง ถ้ากลับไปศึกษารุสโซ ศึกษาแนวคิดยุคโรแมนติก จะพบว่า การศึกษายอดเยี่ยมของโลกอย่างฟินแลนด์นั้นสืบทอดระบบคุณค่าและปรัชญาการศึกษามาจากยุคโรแมนติก ที่น่าสนใจ คือ สิ่งที่ยุคโรแมนติกสอน ที่ฟินแลนด์เอามาทำนั้น เป็นอะไรที่ไทยเราน่าจะทำได้ดี คือ การกลับไปหาธรรมชาติ ไปหารากเหง้า ค้นหาตัวตนของเราเอง ของเด็กในชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อจะได้เข้าใจตนเอง เข้าใจโลก เติบโตเป็นตัวของตัวเอง นั่นคือเป้าหมายของการศึกษา