หลังจากมียุทธศาสตร์ “ประเทศไทย 4.0” ประกาศออกมาแล้ว ก็มีการกล่าวถึงการใช้ “ทุนทางวัฒนธรรม” มาส่งเสริม “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” กันมากขึ้น แต่เราเห็นว่า มันยังไม่เพียงพอ สังคมไทยยังไม่สามารถสร้างความเข้าใจเรื่อง “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” และ “ทุนทางวัฒนธรรม” ให้แพร่หลายมีความเข้าใจที่ถูกต้องอย่างลึกซึ้ง การใช้ “ทุนทางวัฒนธรรม” นั้นเป้นเรื่องละเอียดอ่อน และถ้าใช้อย่างหยาบ ๆ ตายด้าน และไม่สร้างสรรค์ ก็กลับจะกลายเป้นการทำลายชื่อเสียงของประเทศไปก็ได้ “วัฒนธรรมไทย” นั้น กล่าวสำหรับขอบเขตทั่วโลกแล้ว วัฒนธรรมก็จัดเป็น “วัฒนธรรมท้องถิ่น” แต่เมืองมองในขอบเขตประเทสไทยแล้ว ไทยก็ยังมีวัฒนธรรมท้องถิ่นย่อย ๆ ลงไปอีกมากมาย รูปธรรมการใช้วัฒนธรรมไทยในภาพรวมกับวัฒนธรรมท้องถิ่นส่วนย่อยลงไปของประเทศไทยก็ควรจะมีความแตกต่าง มิใช่ใช้อย่างเหมารวม สร้างภาพลักษณ์ประเทศไทยให้อยู่ในกรอบเดียวคือ “กรอบวัฒนธรนมกรุงเทพ” ที่เป็นศูนย์กลางเท่านั้น การละเลยไม่ให้ความสำคัญของวัฒนธรรมชาติพันธุ์คนส่วนน้อยในหลายท้องที่ในด้านธุรกิจการท่องเที่ยว กำลังทำลายวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาติพันธ์กลุ่มน้อย เช่น ชาวเล ซาไก ฯลฯ วัฒนธรรมท้องถิ่น คือ วิถีชีวิตของคนในแต่ละชุมชน เป็นมรดกสืบทอดกันมา และทุกคนในท้องถิ่นย่อมมีความภาคภูมิใจในการเป็นเจ้าของมีความรักหวงแหนร่วมกัน ศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นเป็นตัวบ่งชี้ความสำคัญของคนในสังคมซึ่งสืบทอดกันมาช้านาน ประโยชน์ของวัฒนธรรมท้องถิ่น สรุปอย่างกว้าง ๆ ดั้งนี้ 1. เป็นเครื่องมือที่ก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคี สร้างความเข้าใจ และการวมพลังในการสร้างสรรค์บางสิ่งบางอย่างร่วมกันของคนในท้องถิ่น 2. สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของกลุ่มชนที่แตกต่างกันไปตามสภาพสิ่งแวดล้อม โดยมีศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านเป็นตัวกำหนด 3. ให้ความบันเทิงแก่กลุ่มชนในสังคม เช่น การฟังเพลง การร้องเพลง การแสดงมหรสพ ตลอดจนพิธีกรรมและประเพณีในเทศกาลต่างๆ 4. เป็นเครื่องมือให้การศึกษาและเป็นหลักฐานอันสำคัญยิ่งของชีวิต ที่ทำหน้าที่อบรมคนในสังคมให้รู้จักรับผิดชอบ ตลอดจนช่วยปลูกฝังคุณธรรมให้แก่คนในชุมชน 5. เป็นเครื่องฝึกพัฒนาการทางด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์และสังคมให้เยาวชนทั่วไป 6. เป็นเครื่องมือในการควบคุมทางสังคม เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่จำต้องอยู่ร่วมและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ภายใต้ระเบียบแบบแผนและกฏเกณฑ์อันเป็นแนวปฏิบัติร่วมกันในสังคมนั้น การจะใช้ “วัฒนธรรมไทย” เป็นทุนทางวัฒนธรรม มาเสริมส่ง “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” นั้น นอกจากจะต้องเร่งรีบให้ข้อมูล สร้างความเข้าใจเรื่อง “วัฒนธรรมไทย” ให้ถูกต้องตรงกันแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับ “วัฒนธรรมท้องถิ่น” ของแต่ละชุมชนให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้