การเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองภาคประชาชน ในนามม็อบสารพัดกลุ่มที่ออกโรงมาขับไล่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อยู่นอกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อราวปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา กลับไม่สามารถสร้างน้ำหนัก หรือแรงกดดันได้มากพอ
แม้จะประกาศพยายามยกระดับให้เป็น “แม่น้ำร้อยสาย” ที่พร้อมจะไหลมารวมกันเพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ด้วยบริหารงานล้มเหลว ผิดพลาด จนไม่อาจให้อภัย ปล่อยให้บริหารประเทศได้อีกต่อไป
ทั้งม็อบ คณะสามัคคีประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำโดย “จตุพร พรหมพันธ์ุ” แกนนำ นปช.
ม็อบประชาชนคนไทย นำโดย “นิติธร ล้ำเหลือ” หรือทนายนกเขา เคลื่อนขบวนมาชุมนุมกันที่หน้าทำเนียบรัฐบาล แต่ก็ดูเหมือนว่านอกจากจะไม่กลายเป็นม็อบเบิ้มๆ แล้ว มวลชนยังบางตา เมื่อวัดด้วยปริมาณ ยังสู้ ม็อบราษฎร ที่นำหน้าโดยแกนนำเยาวชนที่เพิ่งได้รับการประกันตัวออกมาชั่วคราว ยังยอมเสี่ยงออกมาปลุกมวลชนด้วยตัวเอง
แต่ทั้งนั้น ทั้งนี้ สารพัดม็อบที่เลือกออกมาเคลื่อนไหวในห้วงเวลาเดียวกัน ยังไม่สามารถ “เขย่า” พล.อ.ประยุทธ์ ให้สั่นสะเทือนได้อย่างจริงจัง อยู่ดี จะด้วยเพราะไทม์มิ่งเวลานี้ทุกคน ต่างมุ่งไปที่เรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นหลัก
หมายความว่า แรงกดดันนอกสภาฯ จากม็อบที่คาดประกาศว่าจะเป็นเหมือนแม่น้ำร้อยสาย นั้นคงไม่ใช่สาระสำคัญที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องหวั่นวิตก มากไปกว่า ความวุ่นวายที่กำลังก่อตัวจาก ความขัดแย้งภายในทั้งในพรรคพลังประชารัฐ และระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ในวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รอบล่าสุด เมื่อความพยายามผลักดัน ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของพรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้รับความเห็นชอบทั้งจาก “ฝ่ายค้าน” และ “ส.ว.”
เมื่อการเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 และมาตรา 185 กลายเป็น “ชนวนเหตุ” ที่ทำให้พรรคแกนนำรัฐบาลโดนถล่มอย่างหนัก ว่าเหตุใดจึงเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อ “เปิดช่อง” ให้เกิดการทุจริตขึ้นมาเสียเอง ทั้งที่ตัวผู้นำรัฐบาล อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ เคยประกาศให้การต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นวาระแห่งชาติมาแล้ว
เมื่อมาตรา 144 และ มาตรา 185 ที่จะเปิดช่องให้ ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เข้าไปแทรกแซงการทำงานของข้าราชการและการจัดสรรงบประมาณได้โดยไม่มีโทษตามกฎหมาย
อย่างไรก็ดีเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมรัฐสภา ไปแล้วในวาระแรกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ใช่ว่าสถานการณ์จะราบรื่น สงบเงียบ ปลอดโปร่งจนทำให้ “บิ๊กป้อม”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะ “ผู้จัดการรัฐบาล” สามารถวางใจได้
เพราะหากตราบใดที่ เป้าหมายใหญ่คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้กลับไปใช้ “บัตร 2 ใบ” ยังไม่ลุล่วง ได้ตามเป้าหมายจนเกิดเป็นรูปธรรมแล้ว พรรคพลังประชารัฐ ยังอยู่ในภาวะที่ยังต้อง “ลุ้น” ทั้ง “กติกาใหม่” ที่จะสามารถตอบโจทย์สร้างความเชื่อมั่นได้ว่าพลังประชารัฐ จะกลับมาตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จ !
แม้ทางหนึ่งจะมีการเปิดดีลแตะมือเอาไว้กับพรรคเพื่อไทย ให้เห็นคล้อยตาม สนับสนุนการเลือกตั้งด้วยบัตร2ใบก็ตาม แต่ตราบใดที่ยังเป็นเพียง “ดีล” ทุกอย่างก็ย่อมผันแปร ได้ทุกเมื่อ ! ?