สมบัติ ภู่กาญจน์
ประมาณต้นเดือนตุลาคม พุทธศักราช 2560
ในโลกของการสื่อสารสมัยใหม่ ได้มีผู้นำข้อความหนึ่งมาเผยแพร่ โดยผู้เผยแพร่อ้างว่าเป็นรับสั่งของสมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน มีความว่า ญาติโยมไม่ควรจะนำเงินมาถวายพระ จากนั้นก็มีเนื้อความต่อเนื่องไปถึงข้อสรุปว่า การกระทำดังกล่าวอาจเป็นเหตุทำให้ศาสนาเสื่อมได้ด้วย ถ้าชาวพุทธจะไม่พึงระวังในเรื่องอย่างนี้ให้ดี
ข้อความดังกล่าวนี้ สร้างความสนใจให้กับคนที่สนใจ/เคารพ/และนับถือพุทธศาสนา อยู่ไม่น้อย
ซึ่งรวมทั้งผม ที่เห็นด้วยว่า การนำเงิน(ล้วนๆ)ไปถวายให้พระภิกษุ เป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องต้องกันนัก กับหลักคำสอนของพุทธศาสนา บางประการ
แม้ในความเห็นด้วยนี้ ผมจะไม่แน่ใจนักว่า ข้อความที่อ้างว่าเป็นรับสั่งของสมเด็จพระสังฆราช(องค์ปัจจุบัน)นั้น จะเป็นข้อเท็จจริงที่ถูกต้องตรงกันกับรับสั่งที่แท้จริงไปทั้งหมดหรือไม่แค่ไหนเพียงใด? แต่ประเด็นเรื่องการเตือนญาติโยมให้คิด-พิจารณาเรื่องการนำเงินไปถวายพระ เป็นสิ่งที่ผมสนับสนุน เพราะผมเห็นด้วยว่า เป็นการสอนให้พุทธศาสนิกชนได้เกิด‘สติ’ และ ‘สัมปชัญญะ’ขึ้นในใจ
ซึ่งการเตือนเช่นนี้ ความจริงแล้ว พุทธศาสนิกชนผู้เข้าใจพุทธศาสนาอย่างแท้จริงสามารถจะทำได้ทั้งนั้น โดยไม่จำเป็นจะต้องรบกวนไปถึงพระสังฆราชเลยก็ได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นฆราวาส หรือพระภิกษุ พุทธศาสนิกชนที่เข้าใจหลักคำสอนที่แท้จริง ย่อมบอกผู้คนได้แน่นอนว่า ธรรมะนั้นคืออะไร? และเงินคืออะไร? และเรื่องของทางโลก กับเรื่องของทางธรรมนั้น อะไรเป็นเส้นแบ่งที่ชัดเจนแน่นอนให้เห็นกันอยู่ เรื่อยไปจนถึงอาจจะสอนได้ว่า ในโลกที่ผ่านมาจนถึงโลกในยุคนี้ อะไรคือ‘ทางสายกลาง’ที่ยังเป็นหัวใจของพุทธศาสนา? และอะไรคือสิ่งที่พึงปฏิบัติสำหรับพุทธศาสนิกชนที่ดี?
แต่น่าเสียดายที่ทุกวันนี้ คนที่อ้างตนว่าเป็นชาวพุทธ ส่วนใหญ่กลับสนใจที่จะทำในสิ่งเหล่านี้น้อยลงไปเรื่อยๆ แม้กระทั่งพระภิกษุ ซึ่งควรจะต้องทำหน้าที่เหล่านี้มากกว่าฆราวาส ส่วนใหญ่ก็ทำน้อยลง หรือซ้ำร้ายกว่านั้น บางองค์กลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามอีกด้วย......................ข้อความที่หายไปนั้น คือการคิดแล้วก็ไม่อยากเขียน...และขออนุญาตถอนหายใจเฮือกหนึ่งด้วย...................จนต้องร้อนถึงการอ้างรับสั่งของสมเด็จพระสังฆราช ดังมีผู้เผยแพร่ในสื่อ ที่ผมอ้างถึงมา
ข่าวเล็กๆดังกล่าวนี้ ทำให้คนที่เกิดมาตั้งแต่สมัยต้นรัชกาลที่๙อย่างผม มี ‘สติ’ระลึกย้อนกลับไปถึงเมื่อ๕๐ปีที่ผ่านมาแล้ว ที่ในหน้าหนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ปลายเดือนตุลาคม 2504 ยุคนั้นมีข่าวดังเรื่องพระหมอผู้วิเศษในทางรักษาโรค สร้างความโด่งดังในการรักษาจนมีผู้เลื่อมใสเข้าไปรักษาแล้วถวายเงินทองแก่พระเป็นจำนวนมาก ยุคนั้นรัฐบาลมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นนายกรัฐมนตรีผู้บริหารประเทศ สยามรัฐมีคอลัมนิสต์ผู้ใช้นามปากกาว่า ‘คามหุโณ’ ได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับข่าวนี้ไว้ดังนี้
“แต่ตามความเป็นจริง ศาสนาพุทธไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะสนับสนุนให้พระสงฆ์ประกอบเวชกรรมอย่างชาวบ้าน แม้ในทางพระวินัยก็ห้ามไว้ พระพุทธเจ้าเองก็ทรงรังเกียจเวชกรรมเช่นนั้นเช่นเดียวกับคนที่รังเกียจสิ่งปฏิกูล และเวชกรรมที่ชาวบ้านถือว่าเป็นอาชีพสุจริตนั้น บางอย่างก็เป็นมิจฉาชีพสำหรับพระสงฆ์ พระพุทธเจ้าทรงรักษาโรคอย่างเดียวคือโรคทางใจ พระโอสถที่ใช้รักษาก็มีอย่างเดียวคือ ธรรมโอสถ มิใช่การเอานั่นผสมนี่แล้วก็นั่งหลับตาบริกรรมพึมพัมคาถา บ้าๆบอๆไป
กรณี...........ข้างต้นนี้ ไม่ถึงกับต้องไปค้นดูคัมภีร์พระวินัยหรือพุทธบัญญัติ หรือว่าอรรถกถา ฎีกา ที่อธิบายความยืดยาวใดๆให้เป็นการเสียเวลา เพราะไม่มีคำสอนใดเลยที่จะบัญญัติว่าพฤติกรรมเหล่านั้นชอบแล้ว หรือถูกต้องแล้วกับหลักทางพระศาสนา เพราะการรักษาโรค หรือการรับเงิน... .. หรือของมีค่าอื่นๆ.........อีก ก็ล้วนแล้วแต่เป็นของอนามาส ที่พระภิกษุจะมีไว้ในครอบครองมิได้...... หรือยึดกันอย่างเข้ม เพียงแค่จับต้องก็เป็นอาบัติแล้ว (ในพุทธศาสนานิกายเถรวาทหรือหีนยานของประเทศไทย)...................
เพราะฉะนั้น พระสงฆ์ผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัยก็ดี ชาวพุทธที่เข้าใจพระพุทธศาสนาอย่างจริงจังแล้วก็ดี เมื่อเห็นผู้ที่อยู่ในผ้าเหลือง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นปลอมบวชหรือบวชจริง ประพฤติตนไปในทางที่เสื่อมเสียแก่พระศาสนา ย่อมมีความร้อนใจและความทุกข์ใจเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
ผู้เขียนเอง เดินไปทำงานต้องผ่านธนาคาร...........มองเข้าไปในสถานที่ดังกล่าว เห็นพระภิกษุกำลังยืนนับเงินถอนหรือเงินฝากอยู่บ่อยๆ เห็นแล้วก็เกิดหน้าชาทุกที......พยายามจะข่มใจคิดในด้านดีว่าท่านปฏิบัติเพื่อเป็นตัวอย่างในการเก็บหอมรอมริบ แต่คิดเท่าไรก็อดตะขิดตะขวงใจไม่ได้ ... ว่าขอทานก็อุตส่าห์มีเงินฝากคลังกับเขาด้วยหรือ?
‘คามหุโณ’ จบบทวิจารณ์ของเขาด้วยข้อเขียนนี้
นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆ หนึ่งในหลายร้อยข้อเขียนในอดีต ที่สื่อสารมวลชนชื่อสยามรัฐ ทำหน้าที่เหล่านี้อยู่นานเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 ปี แต่มาถึงปัจจุบัน ความเปลี่ยนแปลง(คือ‘อนิจจัง’ทางพุทธศาสนา)มาทำให้สิ่งเหล่านี้สูญลับดับหายไปหมดแล้ว ปัญหา(คือ‘ทุกขัง’ทางพุทธศาสนาอีก)สารพัดชนิดจึงเกิดขึ้น ได้เสมอ และได้ทุกเรื่อง กับผู้คนในสังคมไทยยุคนี้ ที่มีแต่‘อารมณ์’นำหน้า‘ปัญญา’อยู่ทุกวัน ไม่มีใครใส่ใจที่จะให้ความรู้อันเหมาะสมแก่ผู้คนกันอีกแล้ว โดยเฉพาะในเรื่องความต่างของ ‘ทางธรรม’กับ ‘ทางโลก’ จนแม้กระทั่งเรื่องของการชอบถวายเงินให้กับพระ(หรือให้กับวัด)ของคน ที่มีทั้งเอกชนทั้งราชการ ทุกฝ่ายทำกันเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาปกติ จนมาถึงการใช้‘สื่อยุคใหม่’ จึงต้องมีการอ้างถึงรับสั่งของพระสังฆราช มาสะกิดใจให้ชาวพุทธช่วยกันคิดและพิจารณา
พระพุทธศาสนา กับพระมหากษัตริย์ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ คือ‘สิ่งทรงคุณค่า’สองในสามอย่าง ที่สังคมไทยเคยมีมาในอดีต ที่ครูของผมชื่อคึกฤทธิ์ ปราโมชเคยสอนผมไว้เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว พร้อมคำเตือนว่าสิ่งทรงคุณค่าเหล่านี้ ถ้าคนในสังคมไม่ช่วยกันรักษาเอาไว้ คุณค่าเหล่านี้ก็จะลดน้อยถอยลงไป
“อนาคตคือผลของการทำในปัจจุบัน” คือหนึ่งในพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่๙ ที่ผมอ้างถึงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยังจำกันได้ไหมครับ?
เมื่อคำสอนของพระศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ยังมีอยู่ อีกทั้งคำสอนและการกระทำของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงคุณอันประเสริฐก็ยังอยู่ในความทรงจำและระลึกถึง
เรามาช่วยกันศึกษาและลงมือทำตามคำสอนให้ได้อย่างจริงจังเคร่งครัด เพื่อคุณค่าของสังคมไทยในอนาคต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ดีไหมครับ?