“ปัญหาที่จะให้อายุยืนนั้นมันก็แล้วแต่คนครับ ถามใครว่าจะเอาอายุยืนแค่ไหน ก็บอกไม่ตรงกันสักคน เรื่องนี้ก็เป็นปัญหายาก แต่ว่าสรุปแล้วคนเราก็เห็นว่าจะไม่อยากตาย พยายามที่จะดิ้นรนให้ความตายห่างตัวออกไปมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นี่มันก็เป็นธรรมดาของมนุษย์ ยาอายุวัฒนะนั้นก็หากันมามาก ตั้งแต่โบราณลงมาก็เห็นมีแต่คนแสวงหายาอายุวัฒนะ บางคนก็อ้างว่าจะทำอย่างไรไม่ให้คนตายได้ มียาที่จะรักษาชีวิตไว้ให้คงความเป็นหนุ่มเป็นสาวตลอดไป แต่ในที่สุดมันก็เป็นเรื่องไม่จริงทั้งนั้น.............
ผมเห็นว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ว่าจะอยู่นานหรือช้า มันอยู่ที่ว่าเราอยู่อย่างไร
ถ้าเราอยู่ดีเป็นประโยชน์แก่ตัวเอง
เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น
ไม่เป็นภัยต่อใคร
แล้วก็ได้ทิ้งอะไรเอาไว้ให้เขานึกถึงในทางดีแล้ว ผมว่านั่นแหละความเป็นผู้มีอายุยืน
คิด ๆ ดูแล้วคนเราจะอยู่ที่ไหน นอกจากในใจตัวเราเองแล้วมันก็อยู่ในใจคนอื่น สำหรับในใจตัวเองนั้น มันก็อยู่ในระหว่างที่มีลมหายใจอยู่ พอหมดลมหายใจลงมันก็คงจะไม่มีอะไรเหลือ
นี่เป็นความเชื่อของผมอย่างนั้น
แต่ว่าเราอาจจะอยู่ในใจคนอื่นไปอีกนานกี่ร้อยกี่พันปีก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในใจของผู้ที่เขารักเรา และเขาเห็นประโยชน์ในตัวเรา ในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่
อย่างผมทุกวันนี้ อ่านหนังสือที่คนโบราณแต่งไว้ก็เท่ากับว่าคนโบราณนั้นมาเกิดในใจผมนั่นเอง อย่างอ่านหนังสือของท่านสุนทรภู่ ก็เท่ากับว่ามีท่านสุนทรภู่มานั่งเล่านิทานให้ผมฟัง หรือมาแต่งกลอนเพราะ ๆ ให้ผมฟัง
สุนทรภู่ก็มีชีวิตทุกครั้งที่ผมอ่าน
นี่ก็เป็นตัวอย่างอย่างน้อยก็สำหรับผมคนหนึ่งละครับที่เห็นว่าท่านสุนทรภู่ท่านยังไม่ตาย เอาหนังสือท่านมาอ่านก็เท่ากับท่านมีชีวิต ความคิดความเห็นของท่าน ปฏิภาณของท่าน ชีวิตส่วนตัวของท่าน ตลอดจนความรักของท่าน ความเกลียดชังของท่าน มันก็ผุดเกิดขึ้นมาใหม่ เท่ากับว่าสุนทรภู่ยังมีชีวิตอยู่นั่นเอง ถ้าจะพูดไปแล้วสุนทรภู่ท่านเป็นผู้มีอายุยืนที่สุดผู้หนึ่ง
ผมว่าการที่จะทำให้อายุยืนหรืออายุสั้น มันไม่ได้อยู่ที่อาหารการกิน มันไม่ได้อยู่ที่การบริหารร่างกาย พูดไปแล้วมันดูเหมือนกับว่าจะอยู่ที่ความดีที่เราทำมากน้อยในชีวิตนี้เท่านั้นเอง ถ้าทำความดีไว้มาก อายุก็ยิ่งยืนมาก มีคนเขานึกถึงมาก มีคนเขาพูดถึงมาก”
(คึกฤทธิ์ ปราโมช 10 พฤษภาคม 2507)