ทวี สุรฤทธิกุล ความเบื่อลุงตู่คือความเบื่อทหาร และอาจมีผลกระทบไปยังสถาบันที่พึ่งพิงทหารนั้นได้ด้วย ปรากฏการณ์ “เบื่อลุงตู่” อาจจะดูไม่รุนแรงในสายตาของคนที่รักพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ถ้าถอยออกมามองด้วยสายตาของคนที่อยู่ภายนอกความขัดแย้ง ก็จะมีความรู้สึกว่าน่าเป็นห่วงพอสมควร สำหรับคนที่รักลุงตู่นั้นอาจจะมองว่าเป็นแค่เรื่อง “ปกติ” ที่คนระดับนี้ต้องมีทั้งคนที่รักและเกลียด แต่พอมองดูแล้วคนที่เกลียดยังมีจำนวนไม่มาก ทั้งยังมีแต่ม็อบขับไล่หน่อมแน้ม คงทำอะไรลุงตู่ไม่ได้ อีกทั้งลุงตู่ก็มี “แบ็คอัพ” สนับสนุนแข็งแกร่ง ใครที่คิดร้ายต่อลุงตู่ก็เหมือนกับเอาหัวไปชนกำแพงกระนั้น ผู้เขียนเคยคุยกับนักการเมืองรุ่นเก่าหลายท่านเพื่อทำโครงการประวัติศาสตร์การเมืองจากคำบอกเล่า อันเป็นงานวิจัยชิ้นแรก ๆ ของผู้เขียนสมัยที่เริ่มรับราชการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยใน พ.ศ. 2530 ผลได้ส่วนหนึ่งจากงานวิจัยชิ้นนี้ก็คือ ทำให้มองเห็นพัฒนาการบางอย่างของการเมืองไทย ที่หลายคนมองว่ามันเป็น “วงจรอุบาทว์” มีแต่เลือกตั้งสลับรัฐประหาร แต่ผู้เขียนได้เกิดมุมมองใหม่แตกต่างออกมาว่า มันน่าจะเป็นแค่ “วงจรประหลาด” ที่คนไทยชอบบ่นว่าเบื่อทหาร แต่ก็ยังหนุนทหารให้กลับเข้ามามีอำนาจอยู่เรื่อย ๆ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้เขียนยังมองเห็นว่า “วิวัฒนาการของความเบื่อทหาร” นั้นมีรูปแบบเปลี่ยนแปลงไป ยุคทหารครองเมืองปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 (บางคนมองว่าทหารครองเมืองมาตั้งแต่การปกครองสมัยโบราณแล้ว เพราะพระมหากษัตริย์ต้องพึ่งทหารเพื่อค้ำจุนราชบัลลังก์ แม้แต่การรัฐประหารในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ทหารก็เป็นแกนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนั้น แต่ว่าในระยะแรกทหารยังแบ่งอำนาจให้แก่ฝ่ายพลเรือนร่วมกันปกครองมาด้วยดี แต่ไม่นานนักผู้นำพลเรือนกับผู้นำทหารของคณะราษฎรได้แตกคอกัน นำมาสู่การแย่งชิงอำนาจกันมาโดยตลอด จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8 ที่สร้างข้อสงสัยไปที่ผู้นำพลเรือน ทหารจึงฉวยโอกาสนี้ทำรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 และครอบครองอำนาจไว้แต่เพียงฝ่ายเดียวมาตั้งแต่บัดนั้น) นักการเมืองที่เป็น ส.ส.อยู่ในยุคนั้นได้ให้สัมภาษณ์กับผู้เขียนออกมาในทำนองเดียวกันว่า คนไทยยุคนั้นต่างก็คิดว่าทหารคงจะเข้ามาอยู่ในอำนาจเพียงชั่วคราว เมื่อจัดการปัญหาความวุ่นวายต่าง ๆ ให้เรียบร้อยแล้ว ก็คงจะถอนตัวออกไป ซึ่งเหตุการณ์ก็ดำเนินไปตามนั้น จนกระทั่งทหารให้มีการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นใน พ.ศ. 2492 ก็มีการเลือกตั้งตามมาจริง ๆ แต่ว่าพอเลือกตั้งในตอนกลางปีนั้นแล้วเสร็จ บ้านเมืองก็ยังไม่สงบเรียบร้อย ทหารจึงทำการรัฐประหารอีกครั้งในปลายปี 2494 พอถึงตอนนั้น “ทหารก็เปี๊ยนไป” ทหารได้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ที่กระชับอำนาจมาสู่ทหารมากขึ้น โดยนำเอารัฐธรรมนูญฉบับแรก คือฉบับ พ.ศ. 2475 มาปรับแต่งเสียใหม่ โดยให้มีภาพของความเป็นประชาธิปไตยกลาย ๆ คือยังคงให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร แต่ต้องเป็นไปตาม “โรดแม็ป” ที่ทหารกำหนด (ใครที่นึกภาพไม่ออกก็ให้นึกถึงพฤติกรรมของคณะ คสช. ที่จัดทำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 นี้ก็ได้ ที่ได้ฉีกร่างรัฐธรรมนูญฉบับอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ทิ้ง แล้วมาใช้ร่างฉบับอาจารย์มีชัย ฤชุพันธ์ นี้) โดยทหาในตอนนั้นได้แถลงว่า เพื่อให้บ้านเมืองก้าวไปอย่าง “เป็นขั้นเป็นตอน” โดยให้มีการออกกฎหมายพรรคการเมืองตามมา แล้วก็ให้ตั้งพรรคการเมืองได้ ซึ่งทหารก็ตั้งขึ้นร่วมด้วย ที่รู้จักกันช่วงนั้นก็มี 2 พรรค คือ พรรคเสรีมนังศิลา ที่มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นหัวหน้าพรรค โดยคนที่กำกับดูแลพรรคจริง ๆ ก็คือพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เจ้าของคำคมที่ว่า “ไม่มีอะไรภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ที่ตำรวจไทยทำไม่ได้” อีกพรรคหนึ่งก็คือ พรรคชาติประชาธิปไตย ที่มีพลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นหัวหน้าพรรค นัยว่าเพื่อช่วยเสริมแรงกันให้ได้ ส.ส.มามากที่สุดในการเลือกตั้งที่จะมาถึง แต่กว่าจะมีการเลือกตั้งก็ล่วงเข้า พ.ศ. 2500 ในอีก 5 ปีต่อมา (นึกถึงทหารคณะ คสช.ในขณะนี้ ที่ประกาศว่าจะคืนความเป็นประชาธิปไตยให้คนไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2557 ว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน” แต่ก็ล่วงเลยมาจนถึง พ.ศ. 2562 จึงได้มีการเลือกตั้ง โดยได้ตั้งพรรคทหารคือพรรคพลังประชารัฐนั้นเป็นหลุมล่อพวกนักการเมืองหิวอำนาจให้มาสนับสนุนรัฐบาล ล่าสุดความพยายามที่จะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันการสืบทอดอำนาจนี้ก็จบสิ้นลง เพราะผ่านได้แค่ฉบับที่แก้ไขเรื่องบัตรเลือกตั้ง ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับการลดทอนอำนาจของคณะทหารชุดนี้เลย โดยเฉพาะประเด็นของการลดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี และการยกเลิกบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่วางกับดักให้มีการสืบทอดอำนาจได้ต่อไปอีกเรื่อย ๆ) ซึ่งก็เป็นไปตามที่หลาย ๆ คนคาดการณ์ เพราะรัฐบาลได้ใช้อำนาจในทุกวิถีทางที่จะให้ได้ ส.ส.เข้ามามากที่สุด จนต้องมีการโกงการเลือกตั้งอย่างมโหฬาร ที่ได้ชื่อว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งที่สกปรกที่สุด นำมาสู่การประท้วงของประชาชน และทหารอีกฝ่ายหนึ่ง(ซึ่งก็เคยเป็นพวกเดียวกันมาก่อน) ที่นำโดยพลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็เข้ายึดอำนาจ การยึดอำนาจของพลเอกสฤษดิ์จะไม่สำเร็จได้เลย ถ้าขาดปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่ในทางทฤษฎีรัฐศาสตร์พิสูจน์แล้วว่า เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในการโค่นล้มผู้มีอำนาจที่ว่า “แข็งแกร่งสุด ๆ” มานักต่อนัก นั่นก็คือ “ความเบื่อหน่ายเกลียดชังรัฐบาล” ที่นักรัฐศาสตร์ฝรั่งเรียกว่า “Political Declination” คือ การเอาใจออกห่างของประชาชนจากการใช้อำนาจของรัฐบาล ไม่ยอมรับอำนาจของผู้ปกครอง จนถึงขั้นที่ใคร ๆ คิดจะยึดอำนาจจากรัฐบาล ประชาชนก็ไม่แยแสหรือทุกข์ร้อนไปด้วย รัฐบาลทหารของไทยก็เป็นอย่างนี้ ที่ต้องพังเพราะ “ความเบื่อ” ของประชาชนนั้นมาแล้วหลายครั้ง