สถานการณ์ที่มีเด็กนักเรียนติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังจากเปิดภาคเรียนในบางพื้นที่ ทำให้เกิดความวิตกกังวลในการเปิดเรียนอย่างเต็มรูปแบบ และอาจกดดันให้ต้องขยายระยะเวลาการเรียนออนไลน์ในบางพื้นที่ออกไปอีกหรือไม่
ทั้งนี้จากผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนของสวนดุสิตโพล ในหัวข้อ “หัวอกครู ผู้ปกครอง นักเรียน กับการเรียนออนไลน์” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 68.52 คิดว่าการเรียนออนไลน์จะทำให้คุณภาพการศึกษาไทยแย่ลง ขณะที่อีกประชาชนส่วนใหญ่คิดว่าการเรียนออนไลน์จะส่งผลกระทบต่อการศึกษาระดับปฐมวัยมากที่สุดร้อยละ 35.57 รองลงมาคือระดับประถมศึกษา 33.77% ระดับมัธยมศึกษา 23.51 % สุดท้ายคือระดับอุดมศึกษาเพียง 7.15%
อย่างไรก็ตาม นอกจากผลกระทบเรื่องคุณภาพการศึกษาแล้ว ผลกระทบด้านสุขภาพก็มีไม่น้อย ข้อมูลจากกองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า จากพฤติกรรมของเด็กกลุ่มวัยเรียนที่ต้องนั่งเรียนเป็นเวลานานๆทำให้เสียงต่อโรค 5 ประการดังนี้
1.การเคลื่อนไหวน้อยไป ส่งผลร้ายต่อระบบการทรงตัว ระบบการทรงตัวช่วยควบคุมกล้ามเนื้อตา การรับรู้พื้นที่ และการจัดการสมองเพื่อช่วยปรับการเรียนรู้และอารมณ์
2.การนั่งนานเกินไปกระตุ้นให้เกิดโรคอ้วนในเด็ก และปัญหาทางสุขภาพมากมาย และการนั่งทั้งวันในตอนเป็นเด็ก ก็อาจนำไปสู่นิสัยที่ไม่ดีต่อสุขภาพตอนเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งอาจมีส่วนให้เกิดโรคอ้วนในที่สุด
3.การเคลื่อนไหวลดอาการซึมเศร้าและวิตกกังวลซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นกิจกรรมทางกายจะปลดปล่อยเอ็นดอร์ฟิน และช่วยให้เด็กเลิกคิดเรื่องรบกวนจิตใจไปได้
4.การนั่งนาน ๆ สร้างนิสัยเฉื่อยชา เนือยนิ่งให้เด็กการอยู่ในสภาพที่ต้องนั่งเป็นส่วนใหญ่ในแต่ละวัน ทั้งที่โรงเรียนและเล่นโซเชียลมีเดียที่บ้าน ก็ติดนิสัยเฉื่อยชาได้ดังนั้นผู้ปกครองควรให้ความสนใจและแนะนำเด็ก
5.เกิดปัญหาทางสายตา หากต้องนั่งจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์นาน ๆเช่น ปวดตา ตาแห้ง อาจต้องพักสายตาบ้าง และหากมีอาการควรพบแพทย์ไม่ควรซื้อยาหยอดตาเอง
พร้อมข้อแนะนำว่า การเรียนออนไลน์นอกจากจะอาศัยวินัยของเด็กซึ่งผู้ปกครองต้องคอยแนะนำไปทางที่เหมาะสมแล้ว คุณครูก็ควรมีแผนการสอน หรือกลยุทธ์วิธีการสอนที่น่าสนใจด้วย เพื่อให้ไม่น่าเบื่อกับการเรียนออนไลน์ที่บ้านทุกวัน
ดังนั้น เพื่อป้องกันโรคต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในเด็กนักเรียน หลังจากเรียนออนไลน์แล้วเสร็จ ควรหากิจกรรมที่ขยับร่างกายที่จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือดได้ดีขึ้น โดยเฉพาะการออกกำลังกายจะช่วยสร้างเซลล์สมองใหม่นอกจากนี้การมีส่วนร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ ในบ้าน เช่น ล้างจาน รดน้ำต้นไม้ หรือ ทำอาหารเย็นร่วมกัน กิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ นอกจากจะช่วยขยับร่างกายส่งผลดีทางร่างกาย จิตใจแจ่มใสแล้ว ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในครอบครัวอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้การเรียนออนไลน์จะส่งผลกระทบมากทั้งด้านการศึกษาและสุขภาพ แต่ในภาวะที่จำเป็นนี้ คงไม่มีใครอยากให้ลูกหลานไปเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสโควิดและต้องเดินลำพังไปรับการรักษาตัว ดังนั้นทุกฝ่ายจึงต้องร่วมมือร่วมใจ ป้องกันตนเอง ป้องกันผู้อื่น ตามมาตรการสาธารณสุข เพื่อจำกัดการแพร่ระบาดให้ลดลงโดยเร็ว แม้แนวโน้มจะมีไวรัสพันธุ์ใหม่เข้ามาแทนที่ แต่หากเราไม่เปิดช่องโหว่ให้เกิดคลัสเตอร์ชายแดน และสถานบันเทิง เด็กๆก็จะได้กลับไปใช้ชีวิตในสถานศึกษาได้ตามวัย