วันที่ 25 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันครบรอบวันสถาปนาหนังสือพิมพ์สยามรัฐ หนังสือพิมพ์รายวันที่มีอายุยาวนานที่สุดที่ยังวางจำหน่ายอยู่ในขณะนี้ มีอายุ71 ปีเต็ม โดยพล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นผู้ก่อตั้ง แม้เราๆท่านๆ จะทราบกันดีอยู่แล้ว ดังที่มีข้อมูลจากหลายแหล่งนำเสนอ กระนั้นในมุมมองของนักวิชาการได้กล่าวถึงการกำเนิดของสยามรัฐไว้ว่าอย่างไรนั้น ขออนุญาตนำค วามบางช่วงบางตอนจากบทความเรื่อง “นักหนังสือพิมพ์ชื่อคึกฤทธิ์” เขียนโดยศาสตราจารย์กิตติคุณ สุกัญญา สุดบรรทัด ตีพิมพ์ในหนังสือ “100ปีคึกฤทธิ์” มานำเสนอดังนี้
“สยามรัฐ อาจเรียกได้ว่า เป็นหนังสือพิมพ์คู่บุญของ คึกฤทธิ์ เขาคือผู้ให้กำเนิดหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ได้อุปถัมภ์กล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูมาเป็นเวลาช้านาน ทั้งสยามรัฐนั้น ถ้าจะเปรียบไปแล้วก็เหมือนเวทีแสดงความเห็นของคึกฤทธิ์ เป็นอาวุธทางการเมืองที่กลายเป็นหอกข้างแคร่ของรัฐบาลมาหลายยุคหลายสมัย
คึกฤทธิ์ ต่างจากนักการเมืองอื่นๆ ที่ออกหนังสือพิมพ์ ด้วยในแง่ที่ว่าเขาเองเป็นผู้ที่เข้าใจจิตวิญญาณของหนังสือพิมพ์เป็นอย่างดี เนื่องจากตัวเขาเองก็เป็นนักหนังสือพิมพ์ ได้โดดมาทำงานหนังสือพิมพ์ด้วยตนเอง มิใช่นั่งชี้นิ้วอยู่ห่างๆให้หนังสือพิมพ์ทำเช่นนั้น เช่นนี้ตามใจตน โดยที่ตนไม่รู้เรื่องหนังสือพิมพ์ และธรรมชาติของประชามติเลย จอมพลป.ก็ดี พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ก็ดี ต่างก็มีหนังสือพิมพ์ของตนเอง แต่ในเกมการต่อสู้ สยามรัฐ กลับได้รับการหนุนจากประชาชนมากกว่า คึกฤทธิ์ ได้ปล่อย (หรืออย่างน้อย ก็มีความตั้งใจที่จะปล่อย)ให้กองบรรณาธิการของเขามีอิสระในการตัดสินใจ ทั้งนี้ เพราะหนังสือพิมพ์ย่อมรู้ดีถึงธรรมชาติของตนที่จะคอยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หากสยามรัฐ ต้องการจะเป็นหนังสือพิมพ์ที่ดีก็จะต้องปฏิบัติหน้าที่เช่นนี้โดยเคร่งครัด หนังสือพิมพ์ต้องไวต่อกระแสความเห็นของประชาชน และเหตุการณ์ที่ผันแปรไปทุกเมื่อเชื่อวัน เปรียบเหมือนขนนกที่ไหว สะเทือนไปตามแรงลม หนังสือพิมพ์ที่เป็นฝักเป็นฝ่ายของกลุ่มพรรค หรือกลุ่มคนหรือรัฐบาล หากมุ่งหวังแต่เพียงจะเป็นกระบอกเสียงเช่นนั้นแล้ว ก็จะมีสายตาอันมืดบอดต่อกระแสความเห็นและความต้องการของประชาชน และกลับจะเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาชน
เมื่อคึกฤทธิ์จะออกหนังสือพิมพ์สยามรัฐนั้น เขาก็ยังไม่ได้คิดจะเลิกการเมือง แต่เขามุ่งหวังจะให้หนังสือพิมพ์ฉบับนี้เป็นหนังสือพิมพ์ที่ดี
ทำหนังสือพิมพ์ออกมาฉบับหนึ่ง คือหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ด้วยความคิดว่าจะใช้หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างถูกต้อง ไม่เป็นพวกใครทั้งนั้น คือแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เป็นหนังสือพิมพ์ซึ่งถือหลักหนังสือพิมพ์ทุกประการ คือถือเอาความจริงเป็นใหญ่ ไม่ลงข่าวที่ไม่มีความจริง ไม่กำหนดข่าวขึ้นเอง ไม่ใช้อารมณ์ในการเขียนข่าว
ซึ่งปรากฏว่า สยามรัฐ ปฏิบัติเช่นนั้นได้จริง เป็นความแตกต่างจากหนังสือพิมพ์ในยุคนั้นโดยทั่วไปที่เน้นข่าวประเภทเร้าอารมณ์ ความแตกต่างดังกล่าว เมื่อผสมผสานกับความมีอารมณ์ขันของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ก็ทำให้สยามรัฐ เป็นที่ชื่นชอบของประชาชนอย่างรวดเร็ว”