สถาพร ศรีสัจจัง
ตัวเลข พ.ศ. 2562 บอกว่า ประเทศไทยมีประชากร 69.63 ล้านคน คิดเป็นตัวเลขกลมๆก็คือ 70 ล้านนั่นแหละ ส่วนสาธารณรัฐประชาชนจีน มีทั้งสิ้น 1,398 ล้านคน!
สยามหรือ “ Thailand” เปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบที่เรียกกันอย่างชื่นชมว่า “เสรีประชาธิปไตย” (เน้นคำ “เสรี”) ในปี พ.ศ.2475 ถึงปัจจุบันก็กินเวลาถึง 89 ปี คือเกือบ 9 ทศวรรษเข้าแล้ว ส่วนสาธารณรัฐประชาชนจีน ประกาศสถาปนาประเทศเป็น “สาธารณรัฐประชาชนจีน” (The People Republic of China) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2492 (ค.ศ.1949) หลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การนำของ ประธาน เหมา เจ๋อ ตง มีชัยในสงครามกลางเมืองเหนือพรรคก๊กมินตั๋ง ภายใต้การนำของจอมพล เจียงไคเช็ค (ถอยร่นไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นอยู่ที่เกาะใต้หวันจนปัจจุบัน) เวลาที่พรรคคอมมิวนิสต์ได้บริหารประเทศจีน(โดยระบบพรรคการเมืองเดียว)จนถึงปัจจุบันรวม 72 ปี!
ผู้นำไทยที่ได้อำนาจมาจากการรัฐประหารในปี พ.ศ.2500 (และปี 2501 ทำรัฐประหารรัฐบาลหุ่นภายใต้การนำของพลโทถนอม กิตติขจร ที่ตั้งโดยตัวเองอีกครั้ง) คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เปิดนโยบายร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาผู้นำโลกเสรีในยุคนั้น ก่อนโยบาย “ต่อต้านคอมมิวนิสต์” อย่างเอาจริงเอาจัง และเชื้อเชิญให้สหรัฐอเมริกาจัดส่ง “ผู้เชี่ยวชาญ” มาวางแผน “พัฒนาเศรษฐกิจ” แผนที่ 1 ให้ประเทศไทย โดยประกาศใช้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2504
รวมเวลาจนถึงปัจจุบัน (จากแผนระยะที่ 1 ถึงแผนระยะที่ 12 เข้าแล้ว) เป็นเวลารวมทั้งสิ้น 60 ปี หรือ 6 ทศวรรษเต็มๆ! เคยมีใครตั้งคำถามบ้างหรือไม่เล่าว่า ถึงวันนี้ประเทศเราพัฒนาไปถึงไหนกันแล้ว? นอกจากจะรู้ว่าเรากำลังตกอยู่ในสภาพ “แทบล่มสลาย” ในทุกๆด้าน ทรัพยากรธรรมชาติ (แร่ธาตุหมด ป่าไม้หมด ข้าวปลาอาหารหมด แผ่นดินสูญสภาพเพราะสารเคมี น้ำเน่า อากาศเสีย ฯลฯ ทรัพยากรด้านศิลปะวัฒนธรรมถูกทำลายจนแทบไม่หลือคุณค่าในความคิดทั้งของผู้บริหารประเทศและบรรดาคนรุ่นใหม่/เยาวชนกลายเป็นทาสความคิดระบบเสรีทุนบริโภคอย่างเต็มรูปสมบูรณ์แบบ อย่างยากที่จะถอนตัวถอนความคิด ฯลฯ
ขณะที่ 72 ปีของสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ ได้นำพาประเทศของเขา จากความไร้ศักดิ์ศรี ถูกดูถูกดูแคลนเหยียดหยามจากบรรดาชาติจักรวรรดินิยมตะวันตกทั้งหลาย(โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่กลายเป็น “มหาอำนาจและเศรษฐีใหม่” ของโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2)
อย่างไม่มีชิ้นดีมาก่อน ผงาดขึ้น กลายเป็นชาติมหาอำนาจแนวหน้าของโลก ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การทหาร เทคโนโลยี (โดยเฉพาะดิจิทัล) และศิลปวัฒนธรรม(สามารถสร้างสรรค์ของใหม่และอนุรักษ์ของเก่า)
ที่สำคัญก็คือได้นำพาประชากรจำนวนมหาศาล(มากที่สุดในโลก)ที่เคยตกอยู่ภาวะอดอยาก สิ้นไร้ไม้ตอก ให้ได้ “กินอิ่มนอนหลับ” และ มีความเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ !
ใครที่ไม่เชื่อหรือไม่เข้าใจในประเด็นนี้ อาจย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์จีนยุคศักดินา ต่อถึงยุคขุนศึก จนถึงยุค “ประชาธิปไตยจอมปลอม” ตั้งแต่สมัยการต่อสู้ของ ดร.ซุนยัตเซ็น และ จอมพลเจียงไคเช็ค แห่งพรรคก๊กมินตั๋งดูก็ได้ มีรอให้อ่านอยู่มากมาย ทั้งที่เป็นรูปเล่มและที่เป็นดิจิทัลใน “ออนไลน์” หรือไม่ก็ลองฟังดูตำนานเรื่องเกี่ยวกับบรรดา “จีนอพยพ” ที่กลายมาเป็น “คนจีนโพ้นทะเล” เป็นจำนวนมากในปัจจุบัน ทั้งในประเทศไทยเราเอง ในอาเซียน ในเอเซีย ในยุโรป หรือในสหรัฐอเมริกา ก็ย่อมได้ ก็จะรู้ว่า ก่อนที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะได้ “อำนาจรัฐ” มาบริหารประเทศนั้น คนจีนในประเทศส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่กินกันอย่างไร ถูกขูดรีดกดขี่ข่มเหงแค่ไหน!
เป็นที่รู้กันดีแล้วว่า กว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะนำพาประเทศของเขา ผงาดขึ้นเป็นชาติมหาอำนาจของโลกได้อย่างยุคปัจจุบันนั้น ผู้บริหารพรรคฯ (ซึ่งก็คือคณะผู้บริหารประเทศด้วย) ต้องผ่านความยากลำบากอย่างแสนสาหัส ต้องผ่านความผิดพลาดบกพร่องขนาดใหญ่กันมาไม่น้อย ทำไมพวกเขาจึงสามารถต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคและปรับปรุงพัฒนานโยบายในการบริหารประเทศ จนบรรลุผลที่มีภาพเชิงประจักษ์ในปัจจุบัน?
ปี พ.ศ. 2564 นี้ นับเป็นวาระสำคัญมากวาระหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพราะเป็นปีที่พรรคฯมีอายุครบ 100 ปี หรือ 1 ศตวรรษพอดี พรรคคอมมิวส์นิสต์จีนได้ใช้โอกาสนี้ประกาศเป้ามุ่งที่เรียกว่า “ความฝันร่วมกันของประชาชาติ” ( Zhong Guo Meng) โดยมีสาระสำคัญ 2 ประการ คือ 1)สังคมจีนต้องบรรลุตามเป้าหมาย “สังคมเสี่ยวคัง” คือประชาชนจีนทั้งหมดจะต้อง “พออยู่พอกินถ้วนหน้า” และ 2)ในปีค.ศ.2049 สาธารณรัฐประชาชนจีนจะต้องบรรลุเป้าหมาย เป็นประเทศสังคมนิยมที่แข็งแกร่ง ทันสมัย ร่ำรวย มีอารยธรรม ปรองดอง สวยงาม และ เป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลของโลก!
ในวาระ “100 ปีพรรคคอมมิวนิสต์” จีน มีบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมาไม่น้อย บังเอิญได้อ่านงานชิ้นหนึ่งของท่าน รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รู้สึกชื่นชมและเห็นด้วยกับทรรศนะความเห็นหลายด้านของอาจารย์ คราวหน้าจะลองเอามาพูดถึงในคอลัมน์นี้ เพื่อช่วยเผยแพร่ความคิดดีๆให้กระจายในวงกว้างขวางขึ้น!!!!