89 ปีมาแล้วสำหรับการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข วันนี้ 24 มิถุนายน 2564 มีการตั้งวงแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง โดยมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญกำลังเข้าสู่การประชุมรัฐสภา ระหว่างวันที่ 22-24 มิถุนายน ประเด็นหลักๆที่จับตาสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ในรอบนี้พรรคพลังประชารัฐผลักดันให้มีการแก้ไขระบบการเลือกตั้ง เปลี่ยนจากระบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวกลับไปเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบเหมือนการเลือกตั้งสมัยรัฐธรรมนูญ 2540 ที่พรรคใหญ่ได้เปรียบ แม้พรรคคเพื่อไทยจะได้ประโยชน์ด้วยแต่ชั่วโมงนี้พรรคพลังประชารัฐประเมินว่าสู้ได้ตรงนี้ไม่น่าจะมีปัญหา ขณะเดียวกันก็ทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็กต้องมองอนาคตว่าจะทำพรรคต่อไป หรือยุบรวมกับพรรคใหญ่ อีกประเด็นสำคัญคือ การยกเลิกอำนาจส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ประเด็นนี้ 3 พรรคร่วมรัฐบาลนำเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้ตรงกันกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน ด้วย 250 ส.ว.นั้นมาจากมารดาเดียวกัน “คสช.” เป็นคนแต่งตั้ง อีกทั้งยังมองกันว่าเป็นหนทางในการหวนคืนกลับมาสืบทอดอำนาจอีกครั้งของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และความผันผวนทางการเมือง มีทั้งฝ่ายที่สนับสนุน และต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์การแก้ไขในประเด็นต่างๆ ที่สำคัญคือ หากพิจารณาประเด็นสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เหมือนมีหมุดหมาย เป็นไปเพื่อกำจัดศัตรูทางการเมืองเป็นหลัก หากแต่ในแง่ของการส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้น เป็นเรื่องที่น่าสนใจติดตามว่า บรรดานักการเมืองจะให้ความสำคัญมากน้อยเพียงใดนั้น ยังเป็นคำถามอยู่ ในขณะที่คนบางกลุ่มบางพวก ปลุกผีคณะราษฎรขึ้นมาเพื่อสร้างเงื่อนไขในการเคลื่อนไหวเป้าหมายที่ท้าทายต่อการเผชิญหน้า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 60 ฉบับแก้ไขครั้งที่ 1 จะมีหน้าตาอย่างไร ก็จะสะท้อนภาพของประชาธิปไตยในประเทศที่พิลึกพิลั่น เหมือนเช่นที่เป็นมาตลอด 89 ปี ตราบใดไม่พัฒนาคนที่จะเข้ามาสู่การเมืองไทย ให้มีคุณภาพ