สถานการณ์ที่ไต้หวันเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างรุนแรง มีจำนวนผู้ติดเชื้ออย่างก้าวกระโดด ในขณะที่การฉีดวัคซีนทำได้ล่าช้า ทำให้มีผู้ได้รับวัคซีนต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนประชากรทั้งหมด 23.5 ล้านคน โดยมีประเด็นที่เกี่ยวโยงกับประเทศไทยกลายเป็นประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันก่อนหน้านี้
ล่าสุดไช่ อิง-เหวิน ประธานาธิบดีไต้ หวัน ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอความยาว 1.46 นาที มีเนื้อหากล่าวขอโทษต่อประชาชนชาวไต้หวันทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งรวมถึงผู้ป่วยติดเชื้อ และขอให้คำมั่นว่าจะเพิ่มความแข็งแกร่ง ตลอดจนปรับเปลี่ยนวิธีการรับมือกับสถานการณ์
สำหรับประเทศไทย ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดปัญหาการกระจายวัคซีนโควิด โดยโรงพยาบาลเลื่อนนัดฉีดวัคซีนนำไปสู่การกล่าวโทษและโยนความรับผิดชอบระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันไปมา
กระทั่งเกิดภาพของพล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือสมช. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (ผอ.ศปก.ศบค.) พร้อมด้วยนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตั้งโต๊ะแถลงร่วมกัน “กราบขออภัยประชาชน” โดยระบุเบื้องหลังภาพดังกล่าวเป็นคำสั่งจากผู้นำสูงสุดบนตึกไทยคู่ฟ้า
ไฮไลต์สำคัญตามมา คือการแถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 นายกฯ ประกาศขออภัยประชาชนและขอรับผิดชอบต่อปัญหาทั้งหมด
“ในฐานะนายกรัฐมนตรีและผอ.ศบค. ถือว่าเป็นผู้ บังคับบัญชาสูงสุดในสงครามโควิดครั้งนี้ ต้องขออภัยกับปัญหาที่เกิดขึ้นและขอรับผิดชอบต่อปัญหาทั้งหมด เชื่อว่า จะได้รับวัคซีนมาอย่างต่อเนื่องและมากขึ้นเรื่อยๆ และเพียงพอต่อคนไทยทุกคน ซึ่งขณะนี้สามารถจัดสรรวัคซีนได้ 100 ล้านโดส เพียงพอต่อประชาชน 50 ล้านคนหรือ 70% ของประเทศ ภายในสิ้นปีนี้ อีกทั้งยังเตรียมการเพื่อปี 65 ด้วย ตั้งเป้า 80-90% ตลอดจนย้ำว่า ให้ปฏิบัติงานด้วยความโปร่งใส ต้องไม่มีการทุจริตวัคซีนโดยเด็ดขาด ซึ่งเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า จะต้องผ่านสงครามโควิดครั้งนี้ไปด้วยกันอย่างแน่นอน”
จากผลวิจัยของ เดล คาร์เนกี (ประเทศไทย)เมื่อปี 2562 เรื่อง “Leadership Blind Spots จุดบอดผู้นำไทยและผู้นำโลก” พบว่า 4 จุดบอดใหญ่ของผู้นำ ที่มีผลต่อศักยภาพรวมของทั้งสังคมและองค์กร นั่นคือการ ไม่ฟังอย่างตั้งใจ ขาดการชื่นชมอย่างจริงใจ ไม่เสมอต้นเสมอปลาย และไม่ยอมรับผิด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดวิกฤติศรัทธา ลดความน่าเชื่อถือและทำลายความจงรักภักดี
ในทางกลับกัน ผู้นำที่แก้ไขจุดบอดทั้ง 4 จะทำให้ความพึงพอใจของผู้อื่นเพิ่มเป็น 36% หรือกว่า 2 เท่า งานวิจัยระบุด้วยว่า 4 จุดบอดสำคัญนี้ หากผู้นำตระหนักจะเป็นโอกาสและเป็นหนทางสู่การเป็นสุดยอดผู้นำที่คนทั่วโลกและประเทศไทยต้องการนั่นคือ จริงใจ ยอมรับผิด ชื่นชมและรับฟัง
ดังนั้นเราหวังว่า ห้วงเวลาจากนี้ ผู้นำจะสามารถแก้ไขข้อผิดพลาด และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ ทันเวลาไม่ให้เกิดการสูญเสียและวิกฤติระลอกใหม่