ณรงค์ ใจหาญ
การปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญาตามมาตรา 257 ง (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้ปรับปรุง ระบบการสอบสวนคดีอาญาให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม กำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้ชัดเจนมิให้คดีขาดอายุความ และสร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการในการสอบสวนคดีอาญา รวมทั้งกำหนดให้การสอบสวนคดีอาญาต้องใช้ประโยชน์จากนิติวิทยาศาสตร์ และจัดให้มีบริการด้านนิติวิทยาศาสตร์มากกว่าหนึ่งหน่วยงานที่มีอิสระจากกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างมีทางเลือก ซึ่งขณะนี้ได้มีคณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งในดำเนินการปฏิรูปในเรื่องนี้แล้ว และค่อนข้างจะได้กรอบในการปฏิรูปในเรื่องการสอบสวนนี้อย่างเป็นรูปธรรม
หากพิจารณาจากถ้อยคำในมาตรา 257 ง (2) เรื่องที่ต้องนำมาพิจารณาในกรอบการปฏิรูประบบสอบสวนมี 5 ประการ คือ ประการแรก ความเหมาะสมในการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการในการสอบสวนคดีอาญา ประการที่สอง กำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ของทุกฝ่ายในการสอบสวนให้ชัดเจนว่าจะต้องทำในเวลาเท่าใด เพื่อไม่ให้คดีล่าช้าจนคดีขาดอายุความในอาญา ซึ่งมีผลให้ไม่อาจนำตัวผู้กระทำความผิดมาฟ้องลงโทษได้ ประการที่สาม สร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการในการสอบสวคดีอาญา และประการที่สี่ สอบสวนต้องใช้ประโยชน์จากนิติวิทยาศาสตร์ และประการสุดท้าย จัดให้มีบริการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ที่มากกว่าหนึ่งหน่วยงานที่เป็นอิสระจากกัน เพื่อให้ประชาชนได้เลือกใช้บริการได้
การปฏิรูประบบสอบสวนทั้งห้าเรื่องนี้ สะท้อนให้เห็นถึงข้อบกพร่องหรือข้อจำกัดของการสอบสวนคดีอาญาในอดีต ที่ดำเนินการมาในลักษณะที่แยกการทำงานอย่างเด็ดขาดระหว่างพนักงานสอบสวน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตำรวจ และพนักงานอัยการ เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิด และเมื่อสอบสวนเสร็จสิ้นจึงส่งสำนวนให้พนักงานอัยการเป็นผู้พิจารณาว่าสำนวนที่รวบรวมนั้นมีพยานหลักฐานที่ครบถ้วนหรือไม่ หากไม่ครบถ้วนก็ส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติม แต่จะสอบสวนเองไม่ได้ ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่พนักงานอัยการไม่สามารถสอบสวนเพิ่มเติมเองได้ และก่อให้เกิดความล่าช้าในการสอบสวนคดี ส่วนการไม่กำหนดเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คดีขาดอายุความ แต่ในทางปฏิบัตินั้น ในคดีอาญาหากมีการจับผู้ต้องหามาแล้ว และควบคุมผู้ต้องหา ทั้งพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการจะเร่งการสอบสวนและสั่งคดีเพื่อให้ทันการครบกำหนดฝากขังตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 กำหนด และประเด็นดังกล่าวเป็นความเกี่ยวพันกับการประสานงานระหว่างพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการด้วยว่า พนักงานอสอบสวนต้องส่งสำนวนการสอบสวนให้แก่พนักงานอัยการก่อนที่จะหมดเวลาสูงสุดที่จะฝากขังต่อศาลได้ มิฉะนั้นจะต้องปล่อยโดยมีมีประกัน และเป็นการยากที่จะนำตัวมาฟ้องเมื่อพนักงานอัยการพิจารณาสำนวนการสอบสวนและมีความเห็นสั่งฟ้องคดี กรณีดังกล่าวคงไม่มีปัญหาเรื่องคดีขาดอายุความ แต่ถ้าเป็นคดีที่ไม่ได้ตัวผู้ต้องหา หรือมีการปล่อยชั่วคราว ระหว่างการสอบสวน หากมีการสอบสวนล่าช้าหรือไม่ได้กำหนดเวลาไว้จะทำให้คดีขาดอายุความได้
ประการที่สาม เป็นเรื่องความเชื่อมั่นในการสอบสวนและสั่งคดีของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ ที่ต้องมีการตรวจสอบจากองค์กรภายนอกและมีระบบควบคุมภายในสำหรับการใช้ดุลพินิจที่ถูกต้องและเป็นธรรมในการสอบสวนและสั่งคดี การเพิ่มความเชื่อมั่นนี้ จึงต้องมีกลไกในการตรวจสอบทั้งภายในและภายนอกอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการมีกลไกในการบริหารงานบุคคล การบริหารงานในหน่วยงานที่โปร่งใส และเป็นธรรม เพื่อป้องกันการใช้อิทธิพลของผู้บังคับบัญชาในการที่จะก้าวล่วงการใช้ดุลพินิจในการสอบสวนและสั่งคดี มิฉะนั้นแล้ว การสอบสวนหรือการสั่งคดีโดยองค์กรตำรวจ และองค์กรอัยการ ก็จะขาดความเชื่อถือจากประชาชนว่าได้ทำไปโดยปราศจากอคติ เลือกปฏิบัติ และโปร่งใส
ประการที่สี่ และประการที่ห้า แสดงให้เห็นถึงการนำความก้าวหน้าทางนิติวิทยาศาสตร์ เข้ามาสู่กระบวนการสอบสอบสวน และควรนำมาใช้เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานและพิสูจน์ความจริงในคดีอาญา ประกอบกับพยานบุคคล พยานวัตถุ หรือพยานเอกสาร ซึ่งในบางกรณีสามารถชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่พยานบุคคลไม่อาจยืนยันได้เช่น ดีเอนเอ หรือ ร่องรอยในที่เกิดเหตุอันเกิดจากการระเบิด การตรวจคลื่นสัญญาณ การใช้กล้อง CCTV เป็นต้น แต่การที่ต้องพัฒนาหน่วยงานของนิติวิทยาศาสตร์ให้มีมากกว่าหนึ่งหน่วยและเป็นอิสระจากกันเพื่อผลในการตรวจสอบการตรวจพิสูจน์ที่สามารถทบทวนความถูกต้องของการตรวจพิสูจน์ได้ อันจะนำมาซึ่งความน่าเชื่อและความเชื่อมั่นในกระบวนการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ ที่ไม่ถูกสั่งการให้ตรวจตามความต้องการของผู้มีอิทธิพล
เมื่อได้พิจารณากระบวนการพัฒนาหรือที่เรียกว่าปฏิรูปการสอบสวน ทั้งห้าประการนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า เป็นการปฏิรูปเพื่อมุ่งสู่ความถูกต้อง มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว มีคุณภาพ น่าเชื่อ และโปร่งใส โดยใช้ความรู้ทางนิติวิทยาศาสตร์ที่เป็นอิสระมาช่วยในการค้นหาความจริง เพื่อผลต่อการได้พยานหลักฐานที่มากและมีคุณภาพเพียงพอเพื่อเสนอให้ศาลตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้งหนึ่ง จึงไม่ได้เน้นไปที่คำถามที่ว่า การสอบสวนจะอยู่กับหน่วยงานใด ใครควรมีอำนาจสอบสวน และตำรวจจะสอบสวนต่อไปหรือไม่ พนักงานอัยการจะมาสอบสวนตั่งแต่ต้นอย่างไร ซึ่งเป็นแนวคิดหรือข้อพิจารณาที่ได้คิดและมีความพยายามที่จะปฏิรูประบบการสอบสวนที่มีมาเป็นเวลากว่าสี่สิบปี
จุดเริ่มในการปฏิรูปจึงต้องคิดในองค์รวมว่า ในปัจจุบัน องค์กรที่ทำหน้าที่สอบสวนและฟ้องร้องได้แยกองต์กรกันทำงาน และแยกหน้าที่กันอย่างเด่นชัด ทั้งๆ ที่การสอบสวนและสั่งฟ้อง ควรเป็นกระบวนการเดียวกันและบุคลากรที่เข้ามาทำงานจะต้องมีคุณภาพ คุณสมบัติ และประสบการณ์ ค่าตอบแทนในระดับเดียวกัน ซึ่งปัจจุบัน พนักงานสอบสวน มีประสบการณ์ในการรวบรวมพยานหลักฐาน แต่ไม่มีโอกาสที่จะนำเสนอพยานหลักฐานในศาล ในขณะที่พนักงานอัยการไม่มีประสบการณ์ในการสอบสวนแต่มีประสบการณ์ในการฟ้องคดี และบังตับคดีอาญา ความเป็นอิสระในการสั่งคดี แต่พนักงานสอบสวนเองในบางกรณีอาจได้รับอิทธิพลจากผู้อื่นในการสอบสวน การปฏิรูปในสองประการแรก จึงต้องพิจารณาองค์รวมว่า จะประสานงานระหว่างพนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนอย่างไร และจะให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ เป็นบุคคลากรในหน่วยงานเดียวกันไหม หรือแยกหน่วยงานแต่มีการกำหนดแนวทางการปฏิบัติต่อสำนวนการสอบสวนและสั่งคดีให้ชัดเจน มากกว่าการที่จะกำหนดเพียงกว้างๆ ว่า ให้พนักงานอัยการมีอำนาจในการสอบสวนหรือควบคุมการสอบสวน แต่ไม่กำหนดรายละเอียดในการปฏิบัติไว้ ซึ่งแนวทางในการดำเนินการอย่างนี้ มีรูปแบบของการประสานงานระหว่างตำรวจและพนักงานอัยการของอังกฤษ กำหนดการประสานงานไว้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ในหน่วนงานทั้งสองประสานความร่วมมือและร่วมกันในการสอบสวนเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงในการพิจารณาสั่งฟ้องคดี มากกว่าการที่จะต่างคนต่างทำและใช้การตรวจสอบคำสั่งไม่ฟ้องหรือชี้ชาดความเห็นสั่งไม่ฟ้องตามแนวของไทย
การกำหนดเวลาในการสอบสวนหรือการสั่งคดี ก็เป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ก่อให้เกิดความตื่นกลัวของพนักงานสอนสวนและพนักงานอัยการ หากกำหนดเวลาตายตัวและไม่เพียงพอต่อการรวบรวมพยานหลักฐานและมีผลถึงการได้ความดีความชอบหรือถูกลงโทษทางวินัย เพราะการรวบรวมพยานหลักฐานมีความจำเป็นต้องใช้เวลามากกว่าการพิจารณาที่มีพยานครบถ้วน ในบางประเทศ เช่นเยอรมันให้การสอบสวนยาวนานถึง 180 วันและเปิดโอกาสให้ควบคุมผู้ต้องหาไว้นานได้ แต่ต้องได้รับการตรวจสอบจากศาล ดังนั้นการกำหนดเวลาในการสอบสวนเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องพิจารณาจากความยุ่งยากและความร้ายแรงของคดีประกอบด้วย
โดยสรุป การปฏิรูปการสอบสวนตามแนวทางของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งห้าประการนั้น เป็นการนำไปสู่การได้มาซึ่งพยานหลักฐานที่ครบถ้วนถูกต้อง โปร่งใส มีระบบการตรวจสอบที่ดี และเป็นภาวะวิสัย ด้วยเหตุนี้ กรอบความคิดในการปฏิรูป จึงต้องตัดแนวทางที่แยกส่วนในการดำเนินงาน มาเป็นร่วมมือกันในการค้นหาความจริง ตามประสบการณ์และความถนัดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการปฏิรูปการบริหารงานบุคคล องค์กร จริยธรรมให้สามารถใช้ความสามารถในการทำหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระอย่างเต็มที่ปราศจากอิทธิพลทั้งภายนอกภายใน.