การเดินไปสู่สังคมโปร่งใส ไร้ทุจริตนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับประเทศไทยที่มีลักษณะวัฒนธรรม ปัญหาที่สลับซับซ้อนและละเอียดอ่อน กระทั่งมีการกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการต่อต้านการคอร์รัปชั่นเอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือป.ป.ช. พบว่าในปีงบประมาณ2562 มีเรื่องกล่าวหาร้องเรียน 10,556 เรื่อง ขณะที่ในปี 2563 มีเรื่องกล่าวหาร้องเรียน 9,100 กว่าเรื่อง ขณะที่ภาพรวมคดีทั้งหมดในปี 2564 มีเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 4,920 เรื่อง (ระหว่าง ตุลาคม 2563-พฤษภาคม 2564) โดยป.ป.ช.ตั้งเป้าหมายในการสะสางคดีเก่าที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 21 กรกฎคม 2561 กว่า 8-9 พันคดีในแล้วเสร็จภายในวันที่ 22 กรกฎาคม 2564ตามพระราชบัญญัติป.ป.ช. แม้ตัวเลขเรื่องร้องเรียนจะมีแนวโน้มลดลง แต่ไม่ได้สะท้อนว่าปัญหาการทุจริตจะหมดไปจากสังคมไทยในเร็ววัน หากแต่สิ่งที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนในช่วง 10 ปีให้หลังมานี้ คือปฏิกิริยาของสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริตมากขึ้น ยิ่งในยุคดิจิทัล สื่อโซเชียลเข้ามามีอิทธิพลสูง ยิ่งปกปิดการทุจริตได้ยาก อีกทั้งความพยายามปลูกจิตสำนึกให้กับคนรุ่นใหม่ขึ้นมาผ่านโครงการต่างๆ การสร้างเครือข่ายในองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มีความตื่นตัวมากขึ้น เป็นปัจจัยที่ทำให้มองเห็นอนาคตที่ดีขึ้นของปัญหาดังกล่าว ในห้วงที่ผ่านมามีข่าวฮือฮาเมื่อบุคคลระดับน้องชายของผู้นำตกเป็นผู้ถูกกล่าวหากรณีจงใจยื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จล่าสุด ทำให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือป.ป.ช.กลับมาอยู่ในแสงสปอตไลต์ทางการเมืองอีกครั้ง โดยเฉพาะก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศให้การปราบปรามการทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ กรณีที่เกิดขึ้นจึงถูกจับตามองเป็นพิเศษ เนื่องจากผลของกรณีดังกล่าวจะถูกนำไปขยายผลทางการเมือง ไม่ว่าจะออกมาเป็นบวกหรือลบ จะมีผลข้างเคียงต่อพล.อ.ประยุทธ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่กำลังเผชิญกับศึกหลายด้าน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์เป็นสำคัญ กระนั้น ในทางกระบวนการของป.ป.ช.แม้ยังเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงข้อกล่าวหาใน15วัน แต่ไม่ว่าผลจะออกมาในทางไหน รอดหรือไม่ รอด ทว่าเกิดผลในเชิงจิตวิทยา ทำให้องค์กรอิสระอย่างป.ป.ช.ยกระดับความศรัทธาขึ้นมากทีเดียว