ดูเหมือนว่าบรรดาสมาชิกพรรคก้าวไกลภายใต้ปีกของ คณะก้าวหน้าที่มี "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ยืนเด่นอยู่หัวแถว แทบไม่หลงเหลือความเกรงใจ ไว้ไมตรีให้กับ "พรรคเพื่อไทย" ในฐานะ "แนวร่วม" พันธมิตรพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างสิ้นเชิง ! เพราะไม่อย่างนั้น คงไม่ได้เห็นว่า สมาชิกพรรคก้าวไกลพากันดาหน้าออกมาตอบโต้ สวนหมัดเข้าใส่ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำตัวจริงเสียงจริงของพรรคเพื่อไทยอย่างที่เห็น การปรากฎตัวทักษิณผ่านคลับเฮ้าส์ เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.64 ที่ผ่านมาล่าสุด โดยใช้ชื่อ "โทนี วู๊ดซัม" แสดงความเห็นถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตอนหนึ่งโดยระบุว่า "ถนัด" กับการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ2540 มากกว่า และหนุนให้มีการเลือกแบบใช้บัตร 2ใบ "ในเรื่องเลือกตั้ง ก็มีระบบเขต 400 เขต ปาร์ตี้ลิสต์ 100 คนไปถึงก็โหวต 2 ใบ ใบหนึ่งเลือกคน อีกใบเลือกพรรค ก็เอาใบของคนมาตัดสินเขตนั้นเลย พรรคก็เอามาดูกกต.กลาง ว่าใครได้เท่าไหร่ ข้อดี ประชาชนได้เลือกทั้งพรรค ทั้งคน ประชาชน ตัดสินได้เอง ว่าจะเลือกพรรคอะไร ส.ส.ไหน ซึ่ง ผมไม่ค่อยมีปัญหา แบบ 40 ชัด ประชาชนชิน ถ้ากลับไปอีก อย่างที่ก้าวไกลบอกว่า 2 บัตรแบบเยอรมันนั้น ผมไม่ชำนาญ เลยไม่รู้ เพราะผมเองเป็นผลผลิตของปี 40" แน่นอนว่า ความเห็นของทักษิณ ย่อมสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับพรรคเพื่อไทย โดยไม่ต้อคาดเดา อีกทั้งเมื่อจับสัญญาณจากมติของพรรคเพื่อไทยเองยิ่งชัดเจนว่า พรรคจะไม่แตะหมวดที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในหมวดที่ 1และ หมวดที่ 2 นั่นหมายความว่าจุดยืนของพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ย่อมสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจที่ "โรม รังสิมันต์" ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จะออกมาตั้งคำถามไปยังพรรคเพื่อไทย แต่กลับขึ้นภาพที่จงใจ กระแทกไปถึงทักษิณ อันเปรียบเสมือน "ศูนย์รวมอำนาจ" ของพรรคเพื่อไทย ในลักษณะของตั้งคำถาม และทิ้งปมเอาไว้ว่า พรรคเพื่อไทยไม่ควรไปเออออ ตามเกมของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล อันมีความชัดเจนว่าจะปกป้องอำนาจของส.ว.และตัวพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ด้วยคำพูดที่ว่า "อย่าไปหลงกับสิ่งล่อใจ ชั่วครู่ชั่วยาม" และหากจับอาการแกนนำของพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ตลอดหลายวันที่ผ่านมาจะพบว่า ความคุกรุ่น ความไม่พอใจ นั้นผุดขึ้นมาเป็นระลอกๆ ในท่ามกลางการเดินหน้านับหนึ่งแก้รัฐธรรมนูญกันใหม่ ภายหลังจากที่มีคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ทั้งนี้น่าสนใจ ว่า ในเวลานี้สถานการณ์จากฝั่งพรรคก้าวไกลนั้นต้องบอกว่า "ไม่สู้ดีนัก" เพราะคล้ายกับว่าจะถูก "โดดเดี่ยว" ในท่ามกลางสมรภูมิรื้อรัฐธรรมนูญ อย่างเห็นได้ชัด ลำพังการที่ต้องรับมือ และต่อสู้กับรัฐบาล ผ่านกลไกหลักๆ ทั้งพรรคพลังประชารัฐ และ "250ส.ว." ไปจนถึง "3 พรรคร่วมรัฐบาล" ที่ไม่อาจคาดหวังได้ 100 เปอร์เซ็นต์ว่ากล้า "ขวาง" เกมรื้อรัฐธรรมนูญ2560 ได้อย่างจริงจังแล้ว ยังกลายเป็นว่าพรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้า ไปจนถึง "ม็อบราษฎร" กำลังยืนอยู่เพียงลำพัง เพราะวันนี้ "แรงกดดัน" ที่เคยหนักหน่วงจาก "นอกสภาฯ" ก็พลับถดถอย ขณะที่ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากพรรคก้าวไกลที่รับไม้จาก คณะก้าวหน้า ก็แทบไม่มี "นักการเมือง" หรือ พรรคการเมืองไหนออกหน้าสนับสนุน ยิ่งเมื่อมีข่าวสะพัดโหมมาพักใหญ่ว่า ในการเลือกตั้งรอบหน้า พรรคก้าวไกล จะเหลือส.ส.ฝ่าเข้าสภาฯ ได้สักกี่คน ด้วยแล้ว ยิ่งบีบคั้นให้พรรคก้าวไกล วังเวงมากเท่านั้น !