โลกจับตาการประชุมผู้นำประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ หรือ จี7 เมื่อเย็นวันศุกร์ที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลอังกฤษเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ที่เมืองคอร์นวอลล์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ โดยมีผู้นำจากสหรัฐอเมริกา แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่นอย่างพร้อมเพรียง นอกจากนี้ยังมีผู้นำจากออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ เข้าร่วมประชุมด้วย โดยผู้นำอินเดียร่วมประชุมผ่านทางระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์
การประชุมครั้งนี้ ถือเป็นการประชุมแบบพบปะกันโดยตรงเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี และเป็นการพบปะผู้นำต่างชาติครั้งแรกของของ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา หลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อต้นปี
วาระสำคัญของการประชุม นอกจากข้อตกลงเรื่องการแบ่งปันวัคซีนโควิด 1,000 ล้านโดสให้กับประเทศยากจนภายในปีนี้และปีหน้า ยังมียังมีเรื่องของนโยบายการต่างประเทศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานสำหรับการประชุมสุดยอดด้านสิ่งแวดล้อม COP26 ของสหประชาชาติที่จะมีขึ้นที่สกอตแลนด์ในเดือนพฤศจิกายน
ที่สำคัญมีรายงานด้วยว่า ที่ประชุมผู้นำกลุ่มประเทศ จี 7 ได้เห็นชอบเปิดตัวโครงการชื่อ “Build Back Better World” แข่งกับโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน โดยโครงการดังกล่าวจะร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อจัดหาเงินทุนหลายแสนล้านดอลลาร์ เป็นเงินทุนสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานให้กับประเทศกำลังพัฒนา
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ อ้างคำกล่าวของเจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐว่า โครงการใหม่นี้ไม่เพียงเป็นทางเลือกใหม่นอกเหนือจากโครงการ BRI ของจีนเท่านั้น แต่จะเอาชนะโครงการ BRI ด้วยการนำเสนอทางเลือกที่มีคุณภาพสูงกว่า นอกจากนั้นยังครอบคลุมทั่วโลก ตั้งแต่ลาตินอเมริกา แคริบเบียน แอฟริกา ไปจนถึงอินโดแปซิฟิกด้วย
การประชุมของกลุ่มจี7 นอกจากเป้าหมายในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับชาติพันธมิตรแล้ว ยังเป็นการส่งสัญญาณคานอำนาจกับจีนที่แรงชัดขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่จีนก้าวขึ้นเป็นชาติมหาอำนาจที่มีความแข็งแกร่งทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การทหารและอวกาศ และก่อนหน้านี้ จีนได้ให้ความช่วยเหลือด้านวัคซีนกับ 80 ประเทศ และ3 องค์กรระหว่างประเทศ
ไม่มีใครปฏิเสธว่า ทั้งจีน และสหรัฐ พยายามเพิ่มอำนาจของตนเอง ผ่านทางโครงการพัฒาต่างๆ นับเป็นโจทย์ที่ไทยต้องขบคิด ในการดำเนินวิเทโศบายอย่างไร ให้ยังประโยชน์ได้มากที่สุด จากสงครามการช่วงชิงการเป็นผู้นำในการจัดระเบียบโลก