ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นหนี้ภาคครัวเรือนหลังมีโควิดรอบ 3 ว่า สถานการณ์หนี้รายย่อยถดถอยลง โดยมีกลุ่มเปราะบางที่เผชิญทั้งปัญหารายได้ลด ค่าใช้จ่ายไม่ลด และภาระหนี้สูงเกินกว่า 50% ต่อรายได้ เพิ่มขึ้นจาก 10.8% ในโควิดรอบ 2 มาที่ 22.1% ซึ่งปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นและน่าจะแตะระดับ 90% ต่อจีดีพีภายในปีนี้ จะมีผลให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องกลับมาดูแลอย่างจริงจัง หลังผ่านโควิดรอบนี้ ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า คนไทยมีเงินออมเพิ่มขึ้นมากในช่วงโควิด-19 แต่หากภาครัฐต้องการให้คนนำเงินออมออกมาใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการบริโภคกระตุ้นเศรษฐกิจอาจมีไม่มากนัก เนื่องจากเงินออมที่เพิ่มขึ้นเป็นครัวเรือนที่มีรายได้สูง ซึ่งมีจำนวนบัญชีน้อยและแนวโน้มใช้จ่ายต่ำ ซึ่งอาจไม่ได้ถูกนำกลับมาใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ โดยครัวเรือนส่วนใหญ่มากถึง 91% ของบัญชีเงินฝากทั้งหมดเป็นบัญชีที่มีเงินน้อยกว่า 1 แสนบาท เนื่องจากรายได้ของครัวเรือนยังมีแนวโน้มซบเซาและเงินออมบางส่วนอาจถูกสะสมไว้เพื่อชำระหนี้เมื่อมาตรการพักชำระหนี้สิ้นสุดลง ทั้งนี้หากดูข้อมูลจากเดือน มี.ค. 64 เงินฝากทั้งระบบปรับสูงขึ้นจากเดิมในเดือน ก.พ. 63 มาอยู่ที่ 14.7 ล้านล้านบาท แต่ส่วนใหญ่มาจากบัญชีเงินฝากที่ขนาดใหญ่กว่า 1 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นถึง 1.3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 89% ของเงินฝากที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด แต่คิดเป็นเพียง 1.5% ของจำนวนบัญชีทั้งหมด ขณะที่บัญชีเงินฝากขนาดเล็กที่ต่ำกว่า 1 แสนบาท เพิ่มขึ้นเพียง 40,000 ล้านบาทเท่านั้น หรือคิดเป็น 2.7% ของเงินฝากที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด บัญชีขนาดเล็กมีสัดส่วน 91% นอกจากนี้สัดส่วนมูลค่าบัญชีขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น ยังเห็นถึงความเหลื่อมล้าที่เพิ่มมากขึ้นด้วย โดยกลุ่มคนรายได้สูงมีเงินออมเพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มรายได้ต่ำ ทำให้สัดส่วนมูลค่าบัญชีเงินฝากคนรายได้สูงยังเพิ่มสูงขึ้นกว่าก่อนมีวิกฤติโควิด-19 ขณะที่เงินฝากทั้งระบบของไทยเพิ่มขึ้นหลังโควิด-19 ระบาดตั้งแต่เดือน มี.ค.63 จนถึงปัจจุบัน เงินฝากขยายตัวต่อเดือนเฉลี่ย 9.4% ขณะที่ปริมาณเงินฝาก 5 ปีที่ผ่านมาก่อนโควิด-19 ระบาด มีการขยายเพียง 3.9% หากพิจารณาแนวโน้มเงินฝากที่เพิ่มขึ้น 5 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีเงินฝากส่วนเกินสูงถึง 9.5 แสนล้านบาท จากผลวิจัยข้างต้นของทั้ง 2 สำนัก สะท้อนสถานการณ์ที่คนจนมีหนี้เพิ่ม สถานะเงินออมต่ำ และไม่กล้าใช้จ่าย ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทย ภาครัฐจำเป็นต้องออกมาตรการเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชน และเรียกความเชื่อมั่นให้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ