รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต การเรียนออนไลน์ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แต่จริง ๆ แล้วเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 18 ในทวีปยุโรป ซึ่งช่วงนั้นเป็นการศึกษาทางไกลผ่านระบบไปรษณีย์ ช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ที่อยู่ห่างไกลได้เรียน จนในปี ค.ศ. 1990 เริ่มมีการใช้อินเตอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย จึงมีการพัฒนาการเรียนการสอนผ่าน World Wide Web ในประเทศไทยเองก็เริ่มพัฒนาจากการสร้างบทเรียนออนไลน์ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถทบทวนบทเรียนด้วยตนเอง และพัฒนามาเป็นการเรียนออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบจากการเรียนในแพล็ตฟอร์มต่าง ๆ จนกระทั่งเกิดสถานการณ์โควิด-19 การเรียนออนไลน์ถูกนำมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาการจัดการศึกษาอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น จะเห็นได้จากข้อมูลขององค์การยูนิเซฟ พบว่า การปิดโรงเรียนส่งผลกระทบต่อนักเรียนร้อยละ 90 ทั่วโลก รวมถึงกระทบต่อทักษะการอ่านออกเขียนได้และการคำนวณของเด็ก อีกทั้งทักษะที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตท่ามกลางเศรษฐกิจโลกในศตวรรษที่ 21 ด้วย ดังนั้นในการนำการเรียนออนไลน์มาใช้ในการจัดการเรียนการสอน จึงต้องคำนึงถึงผลลัพธ์ทางการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญด้วย เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา เป็นวันเปิดเทอมวันแรกของโรงเรียนทั่วประเทศไทย หลายโรงเรียนยังต้องใช้รูปแบบการเรียนออนไลน์เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ โดยการเรียนออนไลน์มีรูปแบบการจัดการเรียนการสอนหลายรูปแบบ เช่น ON-SITE, ONLINE, ON-AIR, ON-DEMAND ผ่านแอพพลิเคชั่น และ ON-HAND ส่งทางไปรษณีย์ สถานศึกษาแต่ละแห่งจะใช้การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบใดนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับความปลอดภัยของผู้เรียนและผู้สอนเป็นสำคัญ ซึ่งสถานศึกษาจะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และหากสถานศึกษาใดต้องการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ ON-SITE หรือเป็นการเรียนที่โรงเรียน จะต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดในพื้นที่นั้น ๆ ความสำเร็จของการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ต้องอาศัยความร่วมมือตั้งแต่ระดับกระทรวงศึกษาธิการที่เป็นผู้กำหนดนโยบายสำคัญ สถานศึกษาผู้นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ครูอาจารย์ผู้เป็นกุญแจสำคัญในการจัดการศึกษาสำหรับเด็ก ผู้เรียนที่จะต้องมีความพยายามในการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ที่อาจไม่คุ้นชิน และที่สำคัญผู้ปกครองที่ต้องให้เวลาและทำความเข้าใจกับการเรียนของบุตรหลานให้มากขึ้น ความพร้อมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ เป็นคำถามสำคัญว่า “พร้อมหรือยัง” ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมของสถานศึกษา ความพร้อมของครู ความพร้อมของผู้เรียน และความพร้อมของผู้ปกครอง โดยความพร้อมในที่นี้ไม่ใช่เพียงความพร้อมด้านกายภาพ อุปกรณ์หรือเครื่องมือเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความพร้อมทางด้านจิตใจ ที่ทุกฝ่ายจะต้องเตรียมใจพร้อมรับมือและแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้ผ่านพ้นไปได้ในสถานการณ์โควิด-19 เช่นนี้ และจะต้องมี “ใจ” ที่พร้อมที่จะช่วยกันพัฒนาการเรียนรู้ครั้งนี้ให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีไม่แตกต่างจากการเรียนแบบออนไซต์ด้วย ณ วันนี้ที่จำเป็นจะต้องเปิดภาคเรียนแล้ว แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะยังคงมีผู้ติดเชื้อที่ตัวเลขสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง “การเรียนออนไลน์” จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยพยุงการศึกษาไทยให้ผ่านพ้นวิกฤติทางการศึกษานี้ไปได้ วันนี้แม้อาจจะยังล้มลุกคลุกคลานอยู่บ้าง ยังไม่มีความพร้อมบ้าง แต่ต่อไปการเรียนออนไลน์อาจพัฒนาจนกลายเป็นเครื่องมือหลักที่หลาย ๆ ฝ่ายอาจพร้อมใจรับการเปลี่ยนแปลงนี้ก็เป็นได้ หากมีนโยบายสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนที่ดี มีมาตรฐาน และเห็นผลที่มีประสิทธิภาพ การเรียนการสอนออนไลน์นั้นอาจจะมีทั้งข้อดีและข้อเสียขึ้นอยู่กับมุมมองในการคิดแก้ปัญหา และ บริหารจัดการพัฒนาต่อยอดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่ายในยุคโควิด-19 นี้ ไม่ว่าท่านจะพร้อมหรือไม่พร้อมก็ตาม! ท่านผู้อ่านทุกท่านที่อยู่ในสถานะครู ผู้เรียน ผู้ปกครอง หรืออาจจะเป็นประชาชนคนธรรมดา ๆ คนหนึ่ง น่าจะลองประเมินผลเองได้เป็นอย่างดีว่า ... การจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ณ วันนี้ คุณคิดว่า “พร้อมหรือยัง”