สมบัติ ภู่กาญจน์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้นำพระบรมราโชวาทฯ เรื่อง “การให้ – การให้ด้วยความรักความเมตตาและความมีน้ำใจไมตรี – การลงมือทำ – การมีสติ – การระมัดระวังอคติ ” รวม ๕ หัวข้อ มานำเสนอให้ท่านผู้อ่านพิจารณาเพื่อการปฏิบัติไปแล้ว ในเวลาที่ยังเหลืออีกสองวัน ที่ชาวไทยจะได้ ‘ส่งเสด็จฯ’ พระมหากษัตริย์ผู้ทรงคุณอันประเสริฐพระองค์นั้น กันเป็นครั้งสุดท้าย ผมคิดว่าการศึกษาพระบรมราโชวาทแล้วพิจารณาเพื่อการนำไปปฏิบัติ ยังนับเป็นการ ‘บูชาคนที่ควรบูชา’ ได้ตามคำสอนเรื่องมงคลในพุทธศาสนา ผมจึงอยากนำพระบรมราโชวาทที่ ‘น่าทำและสามารถทำได้’ มาเสนอให้พิจารณาอีก ๔ หัวข้อ ดังนี้ ******* ******* ความอดทนและอดกลั้น ทำให้เกิดการยั้งคิด และได้ทบทวนเรื่องต่างๆใหม่ (มีพระบรมราโชวาทว่า) “.......ความรู้จักอดทนและอดกลั้น ไม่ยอมตัวยอมใจให้วู่วามไปตามเหตุการณ์ ตามอคติ และอารมณ์ที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจนั้น ทำให้เกิดมีการยั้งคิด และธรรมดาคนเราเมื่อยั้งคิดได้แล้ว ย่อมมีโอกาสที่จะพิจารณา เรื่องที่ทำคำที่พูด ทบทวนดูใหม่ได้อีกคำรบหนึ่ง การพิจารณาทบทวนเรื่องใดๆใหม่ ย่อมจะช่วยให้มองเห็นได้ละเอียดชัดเจนขึ้น และทำให้เกิดความเข้าใจอันสว่างใสวขึ้น....” ( ข้อความสั้นๆเพียงไม่กี่ประโยคนี้ อ่านแล้วคิดและพิจารณากันให้ดีเถิดครับ ผมอยากให้คนไทยในยุคนี้ได้อ่านซ้ำกันคนละหลายๆเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคใหม่ ที่สิ่งแวดล้อมต่างๆกำลังทำให้ ‘อารมณ์’สร้างได้ง่ายกว่า‘เหตุผล’นี้ ความอดทนอดกลั้นจะเป็นภูมิคุ้มกันอันดีที่จะทำให้เกิดการยั้งคิดขึ้น และเมื่อมีการยั้งคิดแล้ว โอกาสที่จะพิจารณา ‘เรื่องที่ทำคำที่พูด’ก็จะเกิดตามมา - ทุกวันนี้มีใครที่จะคอยพูดเตือนสติเช่นนี้กันบ้างไหมครับ? และแม้นว่าหากจะมี ปัญหาก็ยังอยู่ที่ว่า ผู้ที่พูดอะไรแล้วจะมีคนส่วนใหญ่ยอมฟังยอมเชื่อ จะมีเหลืออยู่อีกสักกี่คนในประเทศไทย? วันนี้เราจึงมีเหลืออยู่แต่เพียงพระบรมราโชวาท ที่ยังน่าคิดน่าทำ ซึ่งคนไทยควรฟังกันต่อไปอีก อาทิ ) ******* ******** อนาคต คือผลของการทำในปัจจุบัน (พระบรมราโชวาทว่า) “.........ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดที่เป็นอยู่แก่เราในวันนี้ ย่อมมีต้นเรื่องมาก่อน ต้นเรื่องนั้นคือเหตุ สิ่งที่ได้รับคือผล และผลที่ท่านมีความรู้อยู่ขณะนี้ จะเป็นเหตุให้เกิดผลอย่างอื่นต่อไปอีก คือ ทำให้สามารถใช้ความรู้ที่มีอยู่ ทำงานที่ต้องการได้ แล้วการทำงานของท่านก็จะเป็นเหตุให้เกิดผลอื่นๆต่อเนื่องกันไปอีกไม่หยุดยั้ง ดังนั้น ที่พูดกันว่าให้พิจารณาเหตุผลกันให้ดีๆนั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ให้พิจารณาการกระทำหรือกรรมของตนให้ดีนั่นเอง คนเราโดยมากมักนึกว่า อนาคตจะเป็นอย่างไรเราทราบไม่ได้ แต่ที่จริง เราย่อมจะทราบได้บ้างเหมือนกัน เพราะอนาคตก็คือ ผลของการกระทำในปัจจุบัน.......” ( ตั้งใจอ่านแต่ละประโยคครับ แล้วก็คิดกันให้ดีๆ ว่า ทุกวันนี้เราทำอะไรกันอยู่? แล้วเราอยากให้บ้านเมืองของเราในอนาคตเป็นอย่างไรกันต่อไป? ผมอยากให้เรา “พิจารณาการกระทำหรือกรรมของตน” ตามพระบรมราโชวาทกันดูว่า ทุกวันนี้ เราทำสิ่งดีกันไว้มากพอที่จะทำให้ความดีเหล่านั้น ส่งผลต่อไปถึงอนาคตกันแล้วหรือไม่และมากน้อยเพียงใด? อ่าน-คิด-และพิจารณา กันให้มากๆ แล้วฟังพระบรมราโชวาทต่อไปครับ) ******* ******* ปัญหาทุกอย่าง มีหนทางแก้ไขได้ (พระบรมราโชวาทว่า) “......ในการปฏิบัติงานนั้น ย่อมมีปัญหาต่างๆเกิดขึ้นได้เสมอ เมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้วต้องแก้ไข อย่าทิ้งไว้พอกพูนลุกลามจนแก้ยาก ขอให้ทุกคนระลึกว่าปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ไขได้ ถ้าแก้คนเดียวไม่ได้ก็ช่วยกันคิดช่วยกันแก้ หลายๆคนหลายๆทาง ด้วยความร่วมมือปรองดองกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นจักได้ไม่กลายเป็นอุปสรรคขัดขวาง และบั่นทอนทำลายความเจริญและความสำเร็จของการงาน.....” ( ในความเห็นของผม พระบรมราโชวาทนี้สามารถตัดปิดไว้ได้ที่โต๊ะทำงาน และถ้าโต๊ะทำงานนั้นเป็นโต๊ะของสังคมไทย ก็จะต้องขีดเส้นใต้ไว้ด้วยตรงคำว่า ‘ร่วมมือปรองดองกัน’ และหากจะหวังผลสำเร็จของงานให้มีเพิ่มมากขึ้นอีก ผมก็ขอให้ต่อท้ายด้วยพระบรมราโชวาทนี้) ******* ******* ทำใจให้หนักแน่น รู้จักรับฟังผู้อื่น ช่วยให้งานประสบความสำเร็จ ( พระบรมราโชวาทว่า) “.........ที่สำคัญที่สุด จะต้องหัดทำใจให้กว้างขวางหนักแน่น รู้จักรับฟังความคิดความเห็น แม้กระทั่งคำวิจารณ์จากผู้อื่น อย่างฉลาด เพราะการรู้จักรับฟังอย่างฉลาดนั้น แท้จริงคือการระดมสติปัญญาและประสบการณ์อันหลายหลาก มาอำนวยประโยชน์ในการปฏิบัติหรือบริหารงานให้ประสบความสำเร็จที่สมบูรณ์.......” ****** ***** ครูของผมท่านหนึ่งเคยสอนผมไว้ว่าว่า “พ่อแม่ ครูอาจารย์ และพระมหากษัตริย์ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ” คือสิ่งมีค่าสูงสุดที่คนไทยมี และความรู้หรือความดีของคนไทยส่วนใหญ่ย่อมได้จากปูชนียบุคคลสามฝ่ายนี้เป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำตามคำสอนของปูชนียบุคคลที่ทรงค่าสูงสุด นั้นย่อมเป็นสิ่งที่มนุษย์พึงทำยิ่งกว่าสิ่งอื่น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นคำสอนของศาสนาใดก็เห็นพ้องต้องกัน เราไป ‘ส่งเสด็จฯ’ กันด้วยความคิดนี้ดีไหมครับ? แล้วก็กลับมา ‘ทำตามพระบรมราโชวาท’ อย่างน้อยก็๙ประการ ดังที่นำเสนอมานี้ ให้ได้ อย่างจริงจัง และจริงใจ ‘คุณอันประเสริฐ’ที่พระองค์ทรงสร้าง-สอน ไว้ให้กับคนไทยจะได้บรรลุผล คือความวัฒนาสถาวรของประเทศไทยในอนาคต