กระแสเรียกร้องให้ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เร่งตัดสินใจประกาศ ลาออกและยุบสภาฯ เพื่อเปิดทางให้มี "รัฐบาลใหม่" จากฝ่ายค้านในสภาฯ ผสานไปกับ กลุ่มการเมืองที่เคลื่อนไหวอยู่ในรอบนอก ทั้ง "คนกันเอง" ไปจนถึง "ฝั่งตรงข้าม" ในนามสารพัดม็อบนั้น น่าสนใจว่าที่สุดแล้วเสียงเรียกร้องที่ว่านั้นจะสัมฤทธิ์ผลได้จริงหรือไม่ และหากเกิดการยุบสภาฯ ขึ้นมาจริงๆแล้ว "ใคร" พร้อมที่จะลงสนามเลือกตั้งมากที่สุด ! สถานการณ์ของ รัฐบาลที่มี พล.อ.ประยุทธ์ ทำหน้าที่เป็น "กัปตันใหญ่" กำลังเผชิญกับมรสุมรอบด้าน ทั้งความขัดแย้งอันเนื่องมาจาก "การเมือง"โดยตรง ไปจนถึงปัญหาที่ไม่ควรจะเกิดเป็นปัญหา ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำท่าจะลุกลามบานปลาย นั่นคือการบริหารจัดการวัคซีนเพื่อเร่งระดมฉีดให้ประชาชนทั่วประเทศ เพื่อต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 โดยมีเป้าหมายว่าจะต้องฉีดให้ประชาชนให้ได้อย่างน้อย 50ล้านคน ภายในสิ้นปี 64 นี้ ความวุ่นวาย สับสน ขาดความชัดเจน ระหว่างหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่รับผิดชอบทั้งการจัดหาและกระจายวัคซีน ไม่ว่าจะเป็น กทม. และกระทรวงสาธารณสุข ที่ต่างรับนโยบายจากศบค. ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อโรงพยาบาลหลายแห่งออกมาแจ้งเลื่อนการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้รับนัดหมายกันเอาไว้แล้ว จนเกิดคำถามว่า วัคซีนไม่พร้อม ใช่หรือไม่ มิหนำซ้ำ ยังกลายเป็นว่าระหว่างที่ความชัดเจนยังไม่ปรากฎ ได้เกิดปฏิกริยา "งัดข้อ"กันเองผ่านโซเชียล จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องมี คำสั่งให้ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมแถลงข่าวชี้แจงหลังเกิดกรณีปัญหาความขัดแย้งการกระจายวัคซีนโควิด-19 ระหว่างกทม.และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสยบความขัดแย้ง ปลดล็อคปัญหาการปีนเกลียวระหว่างกลไกของรัฐบาล ตัดวงจร "วัคซีนการเมือง"โดยเร็วที่สุด เพราะอย่าลืมว่า หากรัฐบาลสามารถเอาชนะ "สงครามโควิด" รอบนี้ลงได้แล้ว ย่อมจะหมายความชัยชนะทางการเมืองที่พรรคพลังประชารัฐโดยมี "บิ๊กป้อม"พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯในฐานะหัวหน้าพรรค กำลังเดินหน้าในมิติของการเมือง ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไปพร้อมๆกับการตระเตรียมความพร้อมก่อนถึงวันลงสนามเลือกตั้ง ! การตั้งข้อสังเกตของแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ที่พุ่งเป้าว่า แม้งานนี้ฝ่ายรัฐบาลดูเหมือนจะยอมให้ "ไฟเขียว" ในการขยับแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ฝ่ายค้านเองต้องระมัดระวังที่จะไม่เดินเข้าไป "ติดกับ" ฝ่ายรัฐบาลเสียเอง เพราะเชื่อว่าที่สุดแล้ว สิ่งที่พรรครัฐบาล โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ ต้องการแก้ไขมากที่สุด จะอยู่ที่ "กติกา" การเลือกตั้ง เพื่อพาคนเข้าสภาฯ ให้มากที่สุดเท่านั้น ดังนั้นหากพรรคฝ่ายค้าน ยังคงหลงประเด็น มุ่งไปที่การ "ตัดตอน" ในส่วนของ "250 ส.ว." เพื่อไม่ให้เป็น "ตัวแปร" ในการเลือก พล.อ.ประยุทธ์ หรือ "ใครก็ตาม" ที่พรรคพลังประชารัฐ จะเสนอชื่อเข้ามาชิงเก้าอี้นายกฯเพียงด้านเดียวแล้ว ก็อาจจะกลายเป็นการเสียเวลาโดยใช่เหตุ เพราะทำไปทำมา มีความเป็นไปได้ว่า แท้จริงแล้วในการเลือกตั้งรอบหน้า นอกจากฝ่าย "3ป." ตั้งธงว่าจะต้องรีเทิร์น กลับมาสู่อำนาจแล้ว ยังต้องการเป็นรัฐบาลพรรคเดียวอีกด้วยซ้ำ !