คำว่า “คนใน” ในความเข้าใจของชาวบ้านทั่วไปหมายถึงคนสนิทใกล้ชิดของคนที่เป็นใหญ่คนที่มีอำนาจ หรือคนที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดมากกับกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง
“คนในของในหลวง” ในความเข้าใจทั่วไปก็คงจะนึกว่า คือคนทีอยู่ใกล้ชิดในเขตพระราชฐาน
แต่ พลตรี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านสรุปจากพระราชจริยวัตรของในหลวงว่า
“ ‘คนใน’ ของรัชกาลนี้คือประชาชนที่อยู่ตามไร่นาป่าเขา และตามถนนหนทางตรอกซอยทั่วประเทศ ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะยากดีมีจนอย่างไร”
เรื่องนี้อาจารย์หม่อมเขียนไว้ในคอลัมน์ “สยามรัฐหน้า ๕” วันที่ 23 มิถุนายน 2513 มีเนื้อหาบางตอนดังนี้
“...ในระยะเวลาร่วมยี่สิบห้าปีที่ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้ทรงนำสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยให้ก้าวจากยุคไศเลนทร์ ออกมาสู่ยุคปัจจุบัน
จากคติที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าซึ่งอยู่เหนือชีวิตและทุกข์สุขของคนทั้งปวง มาเป็นพระมหากษัตริย์อันเป็นของคนทั้งปวง ใกล้ชิดเพียงแค่เอื้อถึงพระองค์ได้ และทรงร่วมทุกข์สุขเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับคนทั้งปวง
จริงอยู่ ราชประเพณีอันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพะมหากษัตริย์กับราษฎรนั้น ได้เปลี่ยนมาตามกาลสมัย แต่เราจะต้องยอมรับว่า ความรู้สึกว่าพระมหากษัตริย์เป็นของราษฎรและราษฎรเป็นของพระมหากษัตริย์ไม่มีใครจะมาแยกออกจากกันได้นั้น เพิ่งมาเกิดจริงจังในรัชกาลปัจจุบันนี้
และความรู้สึกนั้น แทนที่จะทำให้เสื่อมพระบรมเดชานุภาพหรือถอยพระราชอิสสริยยศลงไป กลับเป็นสิ่งที่เพิ่มพูนพระบรมเดชานุภาพ พระบารมี และพระราชอิสสริยยศในทุกทาง จนเป็นกิตติศัพท์ร่ำลือไปทั่วโลก ยากที่จะหาประมุขแห่งรัฐใดเสมอเหมือนได้
พระเจ้าอยู่หัวยังทรงเป็นทุกอย่างที่พระมหากษัตริย์ทรงเคยเป็นต่อคนไทยมาแต่โบราณ แต่ในลักษณะและความหมายทีเปลี่ยนแปลงไปตรงต่อสภาพและสถานการณ์ในปัจจุบัน
ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินมิใช่เพราะทรงเป็นเจ้าของแผ่นดินอย่างแต่ก่อน แต่เพราะทรงทำให้แผ่นดินไทยนี้เป็นที่ร่มเย็นสงบสุขและน่าหวงแหน
ทรงเป็นธรรมราชา มิใช่เพราะทรงตัดสินคดความด้วยพระองค์เอง แต่เพราะทรงแสดงธรรมคือคุณความดีให้ปรากฏเห็นได้ในพระองค์และด้วยพระองค์เองในทุกทาง...
พระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นต้นแห่งเกียรติทั้งปวงในบ้านเมือง
ไม่มีผู้ใดอื่นที่จะทำอย่างที่เรียกกันทุกวันนี้ว่า ‘ถวายพระเกียรติ’ หรือ ‘เพื่อให้สมพระเกียรติ’ ได้
เมื่อทรงก้าวออกมาไกลแล้ว ก็ไม่ควรที่ใครจะไปดึงกลับ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนที่ชอบทำเช่นนั้นมักจะทำด้วยความอยากได้เหรียญได้ตรา หรือได้ชื่อเสียง ว่าได้เข้าถึงพระองค์ใกล้ชิด อยู่ในฐานะเป็น ‘คนใน’เท่านั้นเอง
น่าจะเข้าใจและยอมรับกันเสียทีว่า ‘คนใน’ ของรัชกาลนี้ คือประชาชนที่อยู่ตามไร่นาป่าเขา และตามถนนหนทางตรอกซอยทั่วประเทศ ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะยากดีมีจนอย่างไร
(สยามรัฐหน้า ๕ วันที่ 23 มิถุนายน 2513)