สืบเนื่องจากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 15/2564 มีมติให้ผ่อนปรนมาตรการสำหรับสถานประกอบการ 5 ประเภท โดยจะให้เริ่มเปิดกิจการในวันที่ 1 มิถุนายน แต่ภายหลัง ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โควิด-19 หรือ ศบค. ได้ให้กรุงเทพมหานครขยายการปิดกิจการ และกิจกรรม ออกไปอีก 14 วัน สำหรับกิจการและกิจกรรมที่ กรุงเทพมหานครยกเลิกการผ่อนปรนออกไปก่อน ประกอบด้วย 1. พิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์สถาน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น รวมถึงพิพิธภัณฑ์ในลักษณะทำนองเดียวกัน ศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ อุทยานวิทยาศาสตร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม แหล่งประวัติศาสตร์โบราณสถาน และหอศิลป์ ทั้งนี้ให้เปิดได้ภายใต้มาตรการที่เข้มงวด เช่น ห้ามเข้าเยี่ยมชมเป็นกลุ่มคณะที่มีการรวมตัวกันจำนวนมาก 2.สถานที่สักหรือเจาะผิวหนังหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ร้านทำเล็บ ทั้งนี้ให้เปิดได้ภายใต้มาตรการที่เข้มงวด เช่น หากพบการติดเชื้อในสถานบริการจำพวกนี้ ให้ปิด 14 วัน 3. สถานที่ให้บริการควบคุมน้ำหนัก คลินิกเสริมความงาม สถานเสริมความงามและคลินิกเวชกรรมเสริมความงาม 4. สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (ร้านสปา ร้านนวดเพื่อสุขภาพ ร้านนวดเพื่อเสริมความงาม) สถานประกอบการนวดแผนไทย (งดเว้น การอบตัว อบสมุนไพร หรืออบไอน้ำ และการนวดบริเวณใบหน้า) นวดฝ่าเท้า 5. สวนสาธารณะ สวนพฤกษศาสตร์ และสวนดอกไม้ ทั้งนี้ให้เปิดภายใต้มาตรการที่เข้มงวด เช่น ห้ามไม่ให้มีการนั่งร่วมกลุ่ม และไม่ให้นำอาหารเข้ามารับประทาน ยกเว้นน้ำดื่ม อีกด้านหนึ่งนายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า “การเหนื่อยล้าจากการระบาดใหญ่จากวิกฤต โควิด- 19 ภาษาอังกฤษเรียกว่า Pandemic fatigue ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีการค้นพบในมุมวิชาการว่าด้วยระยะเวลาที่ยาวนานกับมาตรการที่เข้มงวดมีผลกระทบกับคนหมู่มาก สภาวะดังกล่าวส่งผลต่อพฤติกรรมการป้องกันโรค New normal ต่าง ๆ หรือความร่วมมือในการฉีดวัคซีนจะเริ่มมีปัญหา หรือลดน้อยลง เกิดจากอาการเบื่อ เซ็ง ของประชาชนกับบรรยากาศดังกล่าว สังเกตว่าประชาชนจะมีการรับรู้ความเสี่ยงต่อโรคที่เปลี่ยนไป ซึ่งสถาการณ์ไม่ได้ลดลงจากการปฏิบัติการกติกาตามที่ตั้งไว้ ความสามารถในการแก้ปัญหากับการสื่อสารเป็น 2 ยุทธศาสตร์ใหญ่ที่จะต้องเผชิญกับวิกฤตดังกล่าว สำคัญที่สุดการคือการให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม รัฐต้องโปร่งใส ยุติธรรม จะสามารถเรียกความเชื่อมั่นให้กับประชาชนต่อจัดการระบบต่าง ๆ ของภาครัฐ ได้ การจัดการกับความเหนื่อยล้าของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญมาก ในบางกิจกรรม เช่น การเปิดสวนสาธารณะหรือสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ เราสามารถกำหนดให้ประชาชนเว้นระยะห่างได้ ในต่างประเทศเริ่มเข้าใจในความทุกข์ของประชาชนทั้ง 2 ด้าน ความทุกข์ยากด้านเศรษฐกิจ กับความทุกข์ด้านสังคม มนุษย์เป็นสัตว์สังคม (Human being is social animal) จะตีกรอบให้อยู่แต่ในบ้านไม่ได้ อะไรที่สามารถออกไป outdoor และเกิดประโยชน์หรือเป็นสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ สามารถทำได้ เช่น ในประเทศเยอรมันผมได้พูดคุยกับลูกสาวไม่มีหรอกนะให้ปิดสวนสาธารณะเนื่องจากเป็นสถานที่ที่เด็กจะได้ไปกับครอบครัว การศึกษาบ้านเราที่ปรับรูปแบบให้เด็กเรียนออนไลน์ การได้ไปพิพิธภัณฑ์หรือสวนสาธารณะ นั่นถือได้ว่ามีประโยชน์มาก ยุทธศาสตร์ที่สำคัญตอนนี้คือตระหนักในผลกระทบของสังคมและเศรษฐกิจเข้าใจความทุกข์ยากของประชาชนให้มาก รัฐบาลเข้าใจความทุกข์ทางด้านเศรษฐกิจเพียงด้านเดียวต้องเน้นการ รับฟัง และเข้าหาถึงความทุกข์ด้านสังคมดังกล่าวจะสามารถเกิดการแก้ไขปัญหาวิกฤติไปด้วยกันได้” อย่างไรก็ตาม แม้การกระจายวัคซีนจะดำเนินการไปตามแผนเดิม แต่ก็ยังต้องจับตาว่า กิจการและกิจกรรมต่างๆ จะสามารถปลดล็อกได้ตามวิถีนิวนอมอลกันในวันที่ 14 มิถุนายน นี้หรือไม่ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่กระเตื้องขึ้น ทางออกที่ดี คือ การผ่อนปรนบางกิจการ เช่น สวนสาธารณะ ซึ่งเป็นสถานที่โล่ง กลางแจ้ง ก็เป็นทางออกที่น่าสนใจ