ประชาคมอาเซียนเพิ่งประกาศความเป็น “ประชาคมอาเซียน” ได้ปีเดียว แต่ทว่าบทบาทและความสำคัญของภูมิภาคอาเซียนเติบโตอย่างมาก พื้นที่คอขวดคุมยุทธศาสตร์โลกสำคัญคือ “ตะวันออกกลาง” กับ “อาเซียน” สหรัฐอเมริกา , รัสเซีย , อินเดีย , จีน , ญี่ปุ่น แม้จะเป็นมหาอำนาจทางทหาร และ/หรือ ทางเศรษฐกิจ แต่พื้นที่ประเทศก็ไม่ใช่จุดยุทธศาสตร์ที่ต้องแย่งชิงกัน ตะวันออกกลางกำลังเป็นจลาจล มีสงครามนอกแบบรุนแรงมาก สาเหตุก็เพราะความอ่อนแอ แตกแยกกันภายใน ทั้งเรื่องนิกายศาสนาและเรื่องชนเผ่า ทำให้มหาอำนาจภายนอกใช้เป็นสมรภูมิช่วงชิงอำนาจกัน ปัจจุบันมหาอำนาจพุ่งความใส่ใจไปที่ตะวันออกกลาง แต่อาเซียนเราก็ควรจะตื่นตัว ระมัดระวังภัยเอาไว้ก่อน เรื่องสำคัญก็คือ ความแตกแยกภายในสมาชิกอาเซียน และปัญหาความขัดแย้งแตกแยกภายในแต่ละประเทศเอง เมื่อแรกเริ่มต้นก่อตั้งอาเซียนนั้น จุดที่ห่วงกังวลกันคือ ระบอบปกครองของประเทศในอาเซียน เพราะสามประเทศอินโดจีนปกครองโดยพรรคเดียว ส่วนเมียนมาร์ก็ปกครองโดยคณะทหาร แต่เมื่อสถานการณ์โลกเปลี่ยนไป แต่และประเทศมีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงไปมาก และที่สำคัญคือยุทธศาสตร์ของอาเซียนถูกต้อง ที่ถือเรื่องภายในของแต่ละเป็นประเทศเป็นอิสระของแต่ละประเทศ มาถึงขณะนี้ เกิดประเด็นใหม่ที่อาจกลายเป็นข้อแตกแยกได้ คือปัญหาในทะเลจีนใต้ ซึ่งแท้จริงแล้วก็มีต้นตอมาจากยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา –ญี่ปุ่น กับยุทธศาสตร์ของจีนเป็นรากฐาน มีประเทศสมาชิกอาเซียนส่วนหนึ่งมีความขัดแย้งเรื่องหมู่เกาะทะเลจีนใต้กับจีนอยู่ และก็มีความพยายามจะให้ที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนมีหัวข้อประชุมเรื่องนี้ ซึ่งเมื่อกัมพูชาเป็นเจ้าภาพ และปีนี้ สปป.ลาว เป็นเจ้าภาพ ยังไม่มีการประชุมหัวข้อนี้ แต่เมื่อถึงคิวที่เจ้าภาพมีความขัดแย้งกับจีน ประเด็นปัญหานี้ก็คงหนีไม่พ้นที่ประชาคมอาเซียนจะต้องแสดงท่าทีให้ชัดเจนขึ้นกว่าที่ผ่านมา หัวข้อหลักการประชุมอาเซียนปีนี้ คือ “Turning Vision into Reality for a Dynamic ASEAN Community” ซึ่ง สปป.ลาว ได้ให้ความสำคัญใน 8 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) การดำเนินการตามวิสัยทัศน์อาเซียน ค.ศ. 2025 2) การลดช่องว่างการพัฒนา 3) การอำนวยความสะดวกด้านการค้า 4) การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 5) การส่งเสริมการท่องเที่ยว 6) การส่งเสริมความเชื่อมโยง 7) สภาวะการจ้างงานในอาเซียน 8) การเสริมสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาคเพื่ออนุรักษ์ ปกป้องและส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมของอาเซียน ในส่วนที่จะไทยจะเสนอเพิ่มเติมนั้น คือประเด็นการส่งเสริมให้ประชาคมอาเซียนเป็นประชาคมที่เติบโตอย่างสมดุลใน 3 เสาความร่วมมือ ได้แก่ 1) ความสมดุลในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ระหว่างอุตสาหกรรมเดิม (old S curve) กับการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ (new S curve)   2) การพัฒนาบุคลากรที่เน้นการเพิ่มศักยภาพเยาวชนและการเตรียมรับสังคมผู้สูงอายุ 3) การส่งเสริมการเชื่อมโยงในภูมิภาคและนอกภูมิภาค โดยที่รักษาสมดุลและเอกภาพของอาเซียนในการรับมือกับความท้าทายต่างๆ หัวข้อที่สาม “การส่งเสริมการเชื่อมโยงในภูมิภาคและนอกภูมิภาค โดยที่รักษาสมดุลและเอกภาพของอาเซียนในการรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ” เป็นนามธรรมกว้าง ๆ ก็จริง แต่ถ้าพิจารณาลงลึกแล้ว ก็จะเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญมากในแง่การรักษาความสงบมั่นคง ป้องกันความแตกแยกของประชาคม ซึ่งตรงนี้ฝ่ายรับผิดชอบความมั่นคงของอาเซียนทั้งสิบประเทศจะกล้าเปิดอกคุยกันหรือไม่ ?