แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ และสังคมอย่างรุนแรง โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของประเทศ และมีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเป็นจำนวนมากจากชุมชนในแหล่งท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามในช่วงที่โควิดเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตต่างๆ ก็สร้างแรงสั่นสะเทือนให้เกิดปฏิกิริยาเชิงบวกสำหรับการท่องเที่ยวอยู่เหมือนกัน จากผลสำรวจของอโกด้า (Agoda) แพลตฟอร์มท่องเที่ยวออนไลน์ชื่อดัง ในหัวข้อ “เทรนด์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 2021” พบว่า คนไทยส่วนใหญ่กังวลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวมากเกินที่แหล่งท่องเที่ยวจะรับได้ การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อการท่องเที่ยว และการใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ 30% ของคนไทยเชื่อว่า ตัวเองมีความรับผิดชอบมากที่สุดในการสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตามมาด้วยหน่วยงานการท่องเที่ยว (25%) และภาครัฐ (24%) ขณะที่คนไทยส่วนใหญ่สัญญาว่า เมื่อไปท่องเที่ยวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดีขึ้น พวกเขาจะจัดการขยะของตนเองระหว่างการท่องเที่ยว โดยใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งให้น้อยลง (53%) มองหาที่พักที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ (37%) และปิดเครื่องปรับอากาศ รวมถึงไฟเวลาออกจากห้องพัก (31%) สำหรับแนวทางปฏิบัติที่คนไทยถือว่าเป็นประโยชน์ต่อการเดินทางอย่างยั่งยืนมากที่สุด ได้แก่ การที่ที่พักใช้พลังงาน หรือแหล่งน้ำหมุนเวียน (31%) การใช้ผลิตภัณฑ์อำนวยความสะดวกที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ (20%) และการใช้คีย์การ์ดจ่ายไฟในห้องพัก (15%) ต่อข้อถามที่ว่ามีแนวทางปฏิบัติอะไรที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนบ้าง คนไทย 47% ตอบการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน 41% ตอบการอนุรักษ์สัตว์ และ 35% ตอบการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจากธรรมชาติ มาตรการเพิ่มเติมที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมากขึ้น คือระบุตัวเลือกการท่องเที่ยวที่มีความยั่งยืน/เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ง่าย เสนอสิ่งจูงใจทางการเงินแก่ผู้ให้บริการที่พักที่เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานถึงขีดสุด และจำกัดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งของสายการบินหรือในที่พัก จากผลสำรวจดังกล่าว ทำให้มีความหวังว่าจากนี้ไป นักท่องเที่ยวชาวไทยจะเป็นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เป็นนักท่องเที่ยวที่เที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ถลุงทรัพยากร และทำลายธรรมชาติ ความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยว ในขณะที่แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ นั้น ก็ได้ฟื้นตัวจากช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ป่าเขา ทะเลและสัตว์ป่าที่ไม่ถูกรบกวน อย่างไรก็ตาม ข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย คือการเปิดให้ภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่อง เปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนแล้ว ตามแผนคือในวันที่ 1 กรกฎาคม หรือPhuket Sandbox ที่ต้องลุ้นให้ภูเก็ตไปรอดฟื้นท่องเที่ยว โดยไม่เกิดคลัสเตอร์ใหม่ และเหนือสิ่งอื่นใด คือ เราหวังว่า นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะกลับมา จะเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพที่ไม่ใช่เพียงมีกำลังในการใช้จ่ายสูง แต่ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย