ตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่มีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ความต้องการวัคซีนของประชาชนมีมากขึ้น แม้จะมีข่าวดีที่บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ได้ส่งมอบวัคซีนลอตแรก 1.8 ล้านโดสให้กับบริษัทแอสตราเซเนกา (ประเทศไทย)เตรียมส่งมอบให้กระทรวงสาธาณสุขตามแผนที่กำหนดไว้ก็ตาม
แต่ความต้องการวัคซีนตัวเลือก และวัคซีนทางเลือก ยังคงพุ่งสูง และมองว่าการกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงและรวดเร็วที่สุด เป็นทางรอดทั้งด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ
ก่อนหน้านี้มีกระแสในส่วนของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เตรียมที่จะสั่งจองวัคซีนซิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แต่กรณีดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากติดที่ก่อนหน้านี้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้วินิจฉัยให้ การจัดหาวัคซีนในช่วงเริ่มแรกนี้ให้ภาครัฐเป็นฝ่ายดำเนินการ
โดยพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2565 ในวาระที่ 1 วงเงิน 3,100,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมาว่า เรื่องการจัดซื้อวัคซีนของอปท. ที่เป็นประเด็นนั้น ตั้งแต่มีปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 มา รัฐบาลได้ดำเนินการเรื่องนี้ โดยตั้ง ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งนี้ ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่วนท้องถิ่นก็เข้ามาดำเนินการการทำงาน ทั้งการกักกัน สกัดกั้น และการรักษา เมื่อมาถึงเรื่องการจัดหาวัคซีน ที่อยากให้ อปท.เข้ามามีส่วนในการจัดหานั้น เมื่อพิจารณากฎหมายของ อปท. ก็เปิดให้สามารถจัดซื้อวัคซีนได้ แต่ก่อนหน้านี้ทางผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้แจ้งให้ทราบว่าการจัดหาวัคซีนในช่วงเริ่มแรกนี้ให้ภาครัฐเป็นฝ่ายดำเนินการ
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ประเด็นคือ ถ้า อปท. เข้ามาจัดซื้อวัคซีนเอง ก็มีเรื่องที่ อปท.บางแห่งมีงบประมาณ และบางแห่งไม่มีงบประมาณ ซึ่งจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีประเด็นว่า กระบวนการจะเป็นอย่างไร และซื้อยี่ห้ออะไร ปัญหาคือ หลักการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ต้องฉีดครอบคลุม 70% ของประชาชนทั้งประเทศ ถ้าให้ อปท.ซื้อ ก็จะเกิดความเหลื่อมล้ำ เพราะบางแห่งซื้อได้เยอะ ก็ฉีดได้เยอะ บางแห่งซื้อได้น้อย ก็ฉีดได้น้อย ทำให้จะไม่เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ที่ขึ้นพร้อมกันทั้งประเทศ เหมือนที่สาธารณสุขระบุไว้ แม้กฎหมาย อปท. จะให้ดำเนินการซื้อวัคซีนได้ แต่ต้องประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น ศบค. ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงได้ให้ ศบค.แจ้งไปที่ อปท. ว่าซื้อได้แต่ต้องอยู่ใต้แผนของ ศบค.
อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่า อปท.ที่มีศักยภาพย่อมต้องการจัดหาวัคซีนเองอยู่แล้ว และหากยื่นเสนอแผนต่อ ศบค. ถ้าดูตามเนื้อผ้าแล้ว แม้จะมีประโยชน์ต่อสถานการณ์เฉพาะหน้า แต่อาจเกิดปัญหาการเหลื่อมล้ำในแต่ละพื้นที่อย่างที่กระทรวงมหาดไทยวิตกจริง โอกาสที่ ศบค.จะอนุมัติอาจเป็นไปได้ยาก
กระนั้น การเร่งจัดหาวัคซีนให้ครอบคลุมและเพียงพอต่อจำนวนของพี่น้องประชาชนโดยเร็วที่สุด จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด โดยอาศัยกลไกของท้องถิ่นในการช่วยกระจายวัคซีน รวมทั้งการจัดการจุดบริการต่างๆ ให้ครอบคลุมมากที่สุด หากยิ่งช้า ก็จะยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำอยู่ดี