ตะเกียงเจ้าพายุ / ทวี สุรฤทธิกุล ในอนาคตเราคงหวังให้สื่อนำกระแสสังคมไปสู่การสร้างสรรค์ต่าง ๆ ไม่ได้อีกแล้ว คนที่เกิดมาเมื่อ 60 ปีก่อน คงรู้จักวิทยุทรานซิสเตอร์ ที่รู้กันว่าเป็นการสื่อสารมวลชนที่มีอิทธิพลมาก ทุกบ้านต้องขวนขวายหาวิทยุมาฟัง ผู้คนเสพติดข่าวสารและความบันเทิงต่าง ๆ จากเสียงวิทยุ ตามท้องไร่ท้องนาแม้แต่บนหลังควายก็เปิดวิทยุฟังเพลงอย่างมีความสุข คุณแม่และพี่สาวติดละครวิทยุงอมแงม โฆษกวิทยุคือเซเลบที่เนื้อหอมที่สุด ต่อมาไม่นานโทรทัศน์ที่เติบโตมาภายหลัง จากระบบสีขาวดำมาเป็นระบบสีธรรมชาติ นำมาสู่การรับชมที่ตื่นตาตื่นใจ หลายบ้านยังไม่มีโทรทัศน์ดู ก็ไปแอบดูข้าง ๆ บ้านที่เขามีโทรทัศน์ หรือไม่ก็ร้านค้าร้านกาแฟที่เปิดโทรทัศน์ให้ดู ต่อมาเมื่อโทรทัศน์ราคาถูกลง โทรทัศน์ก็กลายเป็น “ยักษ์ใหญ่” ในวงการสื่อสารมวลชน ราคาโฆษณาแพงมหาโหด แต่สินค้าต่าง ๆ ก็ต้องงอนง้อ เพราะผู้คนใช้ชีวิตอยู่หน้าจอโทรทัศน์มากกว่าเวลาหลับนอนเสียอีก และด้วยความรวดเร็วฉับไวในการนำเสนอข่าว ทำให้ข่าวโทรทัศน์กลายเป็นการแข่งขันที่ดุเดือดที่สุด แม้ต่อมาในยุคที่มีการประมูลคลื่นดิจิทัล ก็ยอมทุ่มเทกันเป็นพัน ๆ ล้าน เพื่อซื้อคลื่นความถี่นั้นไว้ครอบครอง อนิจจา ตอนนี้กำลังถูกสื่ออินเตอร์เน็ตเข้ามากลบทับ โทรทัศน์หลายรายต้องพับเสื่อไป ที่เหลืออยู่ก็ต้องกระเสือกกระสนเพื่อความอยู่รอด หาอะไรมาโฆษณาก็เอาไว้ก่อน แม้แต่ชุดชั้นใน จนถึงกะปิและน้ำปลา ส่วนหนังสือพิมพ์ที่เป็นสื่อสารมวลชนที่เก่าแก่ที่สุด ก็อยู่ในสถานะคล้าย ๆ กับโทรทัศน์และวิทยุ แต่ด้วยความที่เป็น “แกนหลัก” ของการสื่อสารมวลชนมาทุกยุค เพราะสื่ออื่น ๆ ยังต้องใช้ข่าวจากหนังสือพิมพ์มา “หากิน” สื่อหนังสือพิมพ์จึงพออยู่ไปได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่หนังสือพิมพ์ได้ปรับตัวไปตามโลกดิจิทัล และได้เปลี่ยนมาใช้โซเชียลมีเดีย รวมถึงที่รับโฆษณาทุกระดับสินค้า ก็พอถูลู่ถูกังไปได้ แต่พวกสื่อดิจิทัลดูเหมือนกำลังกระโดดเข้ามากลืนสื่อเก่า ๆ เหล่านี้อยู่อย่างน่ากลัว ก็ด้วยการใช้ “มวลชน” สร้างสื่อหรือข่าวสารมาป้อนตลาด โดยที่สื่อดิจิทัลเหล่านั้นไม่ต้องหาข่าวหรือผลิตข่าวเอง ทำให้ลดต้นทุนไปได้มาก บางทีก็เหมือนการจับเสือมือเปล่าหรือชุบมือเปิบ โดยไม่ต้อลงทุนลงแรงอะไรเลย แต่สามารถขายเรตติ้งหรือปริมาณการแชร์การฟอลโลได้มหาศาล สร้างรายได้ให้กับเจ้าของสื่อดิจิทัลนั้นอย่างมหาศาล ยิ่งไปกว่านั้น คน ๆ เดียว หรือคนทั่วไป ก็อาจจะผลิตสื่อต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง ก็ยิ่งทำให้ “สงครามสื่อ” ปั่นป่วนมากยิ่งขึ้น ในอนาคต สื่อต่าง ๆ จะมีลักษณะที่เป็น “อิสระ” หรือเสนอข่าวกันอย่างเสรีมากขึ้น แม้จะมีกฎหมายหรือองค์กรของรัฐเข้ามาควบคุม แต่ด้วยพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำไปเรื่อย ๆ การควบคุมด้วยกฎหมายและวิธีการเก่า ๆ ก็ยากที่จะทำได้ ที่สำคัญคือความร่วมมือของผู้คนที่เสพสื่อ ที่ตกเข้าไปในกระแสของข่าวสารตามรสนิยม ที่ไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการรักษากฎระเบียบต่าง ๆ เพราะผู้เสพสื่อเหล่านั้นก็เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการที่ผิดกฎหมายเหล่านั้นด้วย ดังนั้นการควบคุมด้วยจิตสำนึกหรือการควบคุมโดยสังคมจึงน่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่า แต่ก็นั่นแหละการควบคุมทั้ง 2 แบบก็เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก จึงเป็นหน้าที่ของสื่อเหล่านั้นที่จะต้องคอยควบคุมกันและกันให้ดี แต่ในโลกของการแข่งขัน การควบคุมกันและกันจึงไม่มีทางเป็นไปได้ จึงเหลือเพียงแค่ “การิเริ่มในสิ่งที่สร้างสรรค์” ของสื่อทั้งหลาย ที่คิดจะทำสิ่งดี ๆ ให้กับผู้คนและสังคมเท่านั้น ที่บ่นขึ้นมาอย่างนี้ ก็เพราะสื่อในปัจจุบันไม่ได้เป็น “ผู้สร้าง” หรือ “ผู้นำกระแส” แต่กลับกลายเป็นผู้ตามหรือลอกเลียนกันและกัน เสนอข่าวสารซ้ำ ๆ และตอกย้ำในลักษณะของการ “เร้าอารมณ์ทางสังคม” หรือพยายามขายข่าว หากินกับกระแสข่าวที่มีคนสร้างขึ้นมาก่อน บ้างก็มาเติมสีสัน ตอกไข่ใส่สี ตีความให้ตื่นเต้นได้อารมณ์มากขึ้นกว่าเดิม จนลืม “สาระของข่าว” แต่ไปเน้น “อารมณ์ข่าวแทน” โดยจะสังเกตง่าย ๆ ได้จากน้ำเสียงและลีลาของคนที่อ่านข่าว ที่พยายามดัดเสียงขึ้นลงให้แปลกประหลาด ร่วมกับการลอยหน้าลอยตา และขยับโขยกร่างกายอย่างผิดปกติ มองเผิน ๆ นึกว่ากำลังดูเต้นแร็ปประกอบข่าว แบบที่คนโบราณเรียกว่า “ไส้เดือนคลุกขี้เถ้า” กระนั้น ผู้ผลิตสื่อและสื่อมวลชนสมัยนี้น่าจะมาจากคนที่จบการศึกษาที่หลากหลาย (หรือบางคนอาจจะไร้การศึกษา หรือเรียนมาบ้างแต่ไม่ได้นำมาใช้) รวมถึงคนที่ไม่ได้มีอาชีพเป็นสื่อ แต่พยายามจะสร้างสื่อและนำเสนอสื่อผ่านโลกออนไลน์ ซึ่งก็แน่นอนว่าคนเหล่านั้นคงไม่ได้คำนึงถึงจรรยาบรรณทางวิชาชีพ หรือความรับผิดชอบต่อสังคมแต่อย่างใดไม่ ขอเพียงแต่ให้ได้ผลประโยชน์ ซึ่งในโลกออนไลน์ก็คือยอดไลค์ยอดแชร์ ที่เป็นเงินทองเป็นทอง แต่ช่างน่าอับอายสำหรับสื่อหลัก คือวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ ที่ไม่ได้เป็นแกนหลักให้กับสังคมอีกต่อไป เพราะได้ร่วงเข้าไปในกระแส “น้ำไม่ดี” แบบนั้นไปกับเขาด้วย ทั้งที่มีกฎหมายและองค์กรควบคุมต่าง ๆ มากมาย นี่ก็แสดงถึงสังคมที่กำลังเข้าสู่ยุค “ตัวใครตัวมัน” มากขึ้น ผู้เขียนเคยดูคลิปของนักข่าวฝรั่งแห่งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ตอนแรก ๆ ก็นึกว่าเป็นข่าวจริง เพราะเห็นเป็นเรื่องของการทะเลาะวิวาทกันตามท้องถนนทั่วไป แต่พอดูต่อไปถึงบทของการโต้เถียงและประทะกันใกล้ จึงรู้ว่าเป็นการถ่ายทำ เพราะบทพูดและมุมกล้องมันเหมือนมีการเตรียมเขียนบทและกำหนดมุมกล้องไว้ จากนั้นก็มีคนถล่มแบที่เรียกว่า “ทัวร์ลง” นักข่าวคนนี้ ซึ่งคนที่คอมเมนต์บางคนแดกดันว่า น่าจะเอาไปประกวดรางวัลออสการ์ มากกว่าที่จะไปประกวดรางวัลพูลิตเซ่อร์ ในอนาคตโลกข่าวสารบนโลกนี้คงไร้สาระและไม่น่าเชื่อถือ ดังสำนวนที่ว่า “โลกนี้คือละคร”