กรณีน้ำท่วมกรุงเทพหลังฝนหนักเมื่อหลายวันก่อนกระตุ้นเตือนว่าเราควรทบทวนยุทธศาสตร์การระบายน้ำในเมืองหรือการวาง “ผังน้ำ” กันโดยด่วน ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าหน่วยศึกษาพิบัติภัย และข้อสนเทศเชิงพื้นที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับ “The Matter” ไว้ตั้งแต่สองสัปดาห์ก่อนเกี่ยวกับปัญหานี้ มีข้อคิดที่น่าใส่ใจเป็นอย่างยิ่ง น้ำท่วมหรือน้ำรอระบายในตัวเมืองใหญ่เกิดจากสาเหตุใหญ่สองด้านคือ ปัญหาทางโครงสร้างการวางผังเมือง และปัญหาพฤติกรรมของคนเมือง ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล สรุปปัญหาทางโครงสร้างผังเมืองผังน้ำว่า มันคือความล้มเหลวในการวางผังเมือง การระบายน้ำมันเดินตามการเติบโตของเมืองไม่ทัน รวมทั้งระบบสาธารณูปโภคที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะการถมคลองเพื่อทำถนนต่างๆ จนทำให้น้ำมันระบายไม่ทัน ระบบท่อระบายน้ำของกรุงเทพถูกทำไว้ตั้งแต่เมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว เมื่อก่อนท่อเหล่านี้เคยสูงกว่าแม่น้ำลำคลอง แต่มาวันนี้เมื่อเมืองเติบโตขึ้น มีการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้เยอะจนทำให้คลองทรุดตัวลง กลายเป็นว่าน้ำในคลองอยู่ต่ำกว่าระดับ การวางผังเมืองไม่เคยวางผังน้ำ ไม่เคยสนใจว่าระบบที่มีมันระบายน้ำทันไหม ไม่เคยรับผิดชอบกันว่าผังเมืองมันจะช่วยระบายน้ำกันได้อย่างไร นี่คือความล้มเหลวของวิชาการวางผังเมืองบ้านเรา อุโมงค์ยักษ์คือการใช้งบประมาณที่ล้มเหลว คุณเอาไปตั้งอยู่ในบริเวณใกล้กับน้ำขึ้นน้ำลง สูบน้ำจากคลองมุดใต้ดินไปลงแม่น้ำ แม้กระทั่งคุณระบายน้ำลงคลองไป มันก็อยู่ต่ำกว่าแม่น้ำอยู่ดี มันเลยต้องใช้แรงดันระดับมหาศาล แถมตรงปากอุโมงค์ยักษ์ยังมีขยะขวางทางอยู่เต็มไปหมด ต่อให้ทำอุโมงค์ยักษ์เพิ่มขึ้นอีกสิบอัน แต่ระบบการระบายน้ำทั้งหมดมันไม่ถูกแก้ไข ปัญหาน้ำท่วมมันก็ไม่มีทางหายไป เสียเงินไปฟรีๆ แถมยังเสียงบประมาณในการดูแลอีกมหาศาล ต่อปัญหาพฤติกรรมการใช้น้ำของคนในเมืองใหญ่ ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล สรุปว่าคนทั้งกรุงเทพใช้น้ำกันวันละประมาณ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร มันก็ทำให้การระบายน้ำต้องเจอกับภาระที่หนักไปอีก ลำพังน้ำจากการใช้ของเราก็หนักอยู่แล้ว ถ้าเจอฝนตกลงมาก็แย่เข้าไปใหญ่ ท่อที่เราวางไว้มันมีขนาด 60 มิลลิเมตร ซึ่งตอนนี้ไม่เพียงแค่ทรุดตัวลง แต่ยังมีตะกอนและเต็มไปด้วยขยะมากมาย การระบายน้ำจึงทำได้ไม่ดีนัก เพราะฉะนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่ฝนตกลงมาหนัก เกินกว่าที่ศักยภาพของท่อจะรับได้ สุดท้ายน้ำก็ท่วม เดี๋ยวนี้แค่ประมาณ 40-50 มิลลิเมตรก็ท่วมได้แล้ว ภาครัฐไม่เข้าใจปัญหา ยกตัวอย่าง การสร้างคอนโดในเมืองที่ไม่ได้คิดกันอย่างรอบคอบ คนหลายพันคนที่อาศัยอยู่บนคอนโดสูงๆ ใช้น้ำเท่ากับคลองแห่งหนึ่งได้เลย นี่คือปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กรุงเทพระบายน้ำกันไม่ทัน ปัจจัยต่างๆ มันกำลังผูกพันกันไปหมด ส่งผลให้แก้ไขปัญหากันลำบากมาก พวกเราควรตระหนักว่า บางทีเราใช้น้ำกันอย่างฟุ่มเฟือย คนไทยเราใช้น้ำมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก เฉลี่ยทั้งหมด 1,300 ลูกบาศก์เมตรต่อคนต่อวัน บางคนยังมีพฤติกรรมมักง่าย ชอบทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทางจนเกิดปัญหาท่อระบายน้ำอุดตัน สิ่งหนึ่งที่จะช่วยบรรเท่าปัญหาได้ คือทุกคนต้องเริ่มช่วยกันประหยัดน้ำเป็นอันดับแรก